ดินทรุดรอบบ้าน โพรงโผล่ แค่ปิดโพรงใต้บ้านอาจไม่จบ
ดินทรุดรอบบ้าน โพรงโผล่ แค่ปิดโพรงใต้บ้านอาจไม่จบ ปัญหาจากดินทรุดรอบบ้านจนเกิดโพรงใต้บ้าน กับเรื่องต่างๆ ที่เจ้าของบ้านควรดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่แค่การปิดโพรงใต้บ้านอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการตรวจสอบปรับปรุงส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสำคัญไม่แพ้กัน
โพรงใต้บ้านที่เกิดขึ้นเมื่อดินทรุดรอบบ้าน นอกจากดูไม่สวยงามแล้วยังอาจเป็นอันตรายจากสัตว์ไม่พึงประสงค์ แมลงมีพิษต่างๆ ที่เข้าไปหลบซ่อนใต้โพรง เจ้าของบ้านจึงควรหาวิธีปิดโพรงโดยเร็ว แต่การปิดโพรงใต้บ้านอย่างเดียวก็ใช่ว่าจะจบเสมอไป เพราะบางครั้งก็มีปัญหาอื่นพ่วงตามมา ทั้งดินที่ยังคงทรุดต่อเนื่อง ท่อระบายน้ำใต้บ้านที่ชำรุด รวมถึงต้องปรับปรุงพื้นรอบบ้านที่เสียหายแตกร้าวด้วย ดังนั้นก่อนจะปิดโพรงใต้บ้าน โดยเฉพาะการปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวรที่ต้องลงทุนติดต่อทีมช่างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการให้นั้น ควรวางแผนให้ดีกันก่อน
ดินทรุดรอบบ้าน ควรปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวรหรือไม่?
ก่อนอื่นควรให้ผู้เชี่ยวชาญสำรวจเพื่อเลือกวิธีปิดโพรงใต้บ้านที่เหมาะสม กรณีพื้นมีดินมีแนวโน้มจะทรุดต่ออีกมาก (ส่วนใหญ่จะเกิดกับบ้านอายุไม่เกิน 3-5 ปี) การปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวรทันทีมักไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ควรรอให้พื้นดินชะลอการทรุดเสียก่อน โดยระหว่างนั้นอาจใช้วิธีปิดโพรงใต้บ้านแบบชั่วคราวไปก่อน เช่น กลบดินรอบๆ ถมทราย ก่ออิฐ วางขอบคันหิน หรือนำกระถางต้นไม้ทรงสี่เหลี่ยมมาวางปิดแทน
ในทางกลับกันหากพบว่าอัตราการทรุดของพื้นดินเป็นไปอย่างช้าลง (ปีละไม่เกิน 10 ซม.) ก็อาจหาวิธีปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวร ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัสดุเติมโพรงใต้บ้าน FillGood หรือการใช้วัสดุแผ่นสมาร์ทบอร์ดปิดโพรงใต้บ้าน ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมตามสภาพหน้างาน
ดินทรุดรอบบ้าน ท่อประปารั่วใต้พื้นบ้านด้วยหรือไม่?
ทุกครั้งก่อนจะปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวร ควรให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสภาพระบบท่อประปาท่อระบายน้ำเสียใต้บ้านด้วย หากพบว่ามีการแตกร้าว หลุด ชำรุดเสียหาย เนื่องจากการทรุดของดิน จะต้องขุดรื้อพื้นเพื่อซ่อมท่อให้เรียบร้อยก่อน เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ น้ำเสียที่รั่วไหลจากท่อระบายน้ำจะสะสมในพื้นดินรอบบ้านจนแฉะนอง สกปรก และส่งกลิ่นเหม็นฟ้องออกมาในที่สุด
ดินทรุดรอบบ้านทำพื้นรอบบ้านแตกร้าวเสียหาย ปรับปรุงอย่างไรดี?
เมื่อพื้นรอบบ้านที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เกิดการแตกร้าวเสียหายตามดินที่ทรุด จำเป็นต้องมีการทุบรื้อทิ้ง ดังนั้นเจ้าของบ้านควรวางแผนปรับปรุงซ่อมแซมพื้นควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็น
- การทำพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยหล่อพื้นใหม่แทนพื้นเก่าที่ทุบรื้อทิ้ง และเลือกวิธีตกแต่งพื้นผิวตามใจชอบ เช่น ทำพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย ปูกระเบื้องคอนกรีต กระเบื้องเซรามิก
- ปูด้วยบล็อกปูพื้น มีข้อดีคือสามารถติดตั้งบนพื้นดินโดยไม่ต้องหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ยังคงรับน้ำหนักได้ดี ใช้ทำพื้นที่จอดรถหรือถนนในบ้านได้ หากพื้นมีการทรุดหรือหน้าดินยุบในอนาคตก็สามารถรื้อออกเพื่อทำการปรับหน้าดินใหม่ให้ได้ระดับเหมาะสม แล้วนำบล็อกชุดเดิมปูกลับไปใหม่ได้ด้วยเช่นกัน
- จัดสวนให้สวยงาม ไหนๆ ก็ต้องปรับปรุงพื้นแล้ว อาจถือโอกาสเปลี่ยนพื้นจากธรรมดาเป็นสวนขนาดย่อม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน ได้บรรยากาศสดชื่น ร่มรื่น เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น
มาถึงตรงนี้เจ้าของบ้านคงได้เห็นภาพว่า เมื่อเกิดโพรงใต้บ้านซึ่งเป็นผลพวงจากดินทรุดรอบบ้านนั้น เราควรวางแผนดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ครอบคลุมส่วนไหน ทั้งการปิดโพรง การตรวจสอบระบบท่อประปาท่อน้ำเสียใต้บ้าน รวมถึงการปรับปรุงพื้นรอบบ้านหลังจากปิดโพรง เพื่อให้การแก้ปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเหมาะสม คุ้มค่า ลดปัญหาในระยะยาวได้มากที่สุด
ดินทรุดรอบบ้าน โพรงโผล่ แค่ปิดโพรงใต้บ้านอาจไม่จบ ปัญหาจากดินทรุดรอบบ้านจนเกิดโพรงใต้บ้าน กับเรื่องต่างๆ ที่เจ้าของบ้านควรดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่แค่การปิดโพรงใต้บ้านอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการตรวจสอบปรับปรุงส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสำคัญไม่แพ้กัน