ดีไซน์บ้านสไตล์นอร์ดิก ฉบับตอบโจทย์เมืองร้อนฝนแรง
ดีไซน์บ้านสไตล์นอร์ดิก ฉบับตอบโจทย์เมืองร้อนฝนแรง งานออกแบบบ้านสไตล์นอร์ดิกให้เหมาะสมกับประเทศเราที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น แดดจัด ฝนแรงตกหนักยาวนานหลายเดือน เพื่อช่วยลดร้อนในบ้านและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำฝนรั่วซึม
บ้านสไตล์นอร์ดิกที่เรียงรายกันอยู่ 8 หลัง มีวิวภูเขาโอบล้อม อากาศดีตลอดทั้งปี ที่สำคัญคือสงบเหมาะกับการพักผ่อนและเดินทางได้สะดวกเพราะอยู่ใกล้เมืองปากช่อง โครงการนี้เริ่มทำในช่วงโควิดด้วยเจ้าของโครงการเล็งเห็นว่าคนไทยหันมาเที่ยวในประเทศกันมากขึ้นจึงมีแนวคิดในการทำบ้านพักตากอากาศเน้นการอยู่อาศัยแบบครอบครัวที่มีพื้นที่ส่วนตัวในการทำกิจกรรมร่วมกันทั้งสวนและสระว่ายน้ำ โดยแต่ละหลังมีเนื้อที่ดินประมาณ 100 ตร.วา พื้นที่ใช้สอย 220 ตร.ม.
สถาปนิกสำรวจพื้นที่ย่านปากช่องเพื่อดูสถานที่โรงแรมที่พักต่างๆ เพราะต้องการความแตกต่าง ดีไซน์ไม่ซ้ำใครแต่มีความเหมาะสมกับบริบทโดยรอบ จึงเลือกบ้านสไตล์นอร์ดิกด้วยความโดดเด่นของหลังคาจั่วทรงสูงไม่มีชายคาทำให้บ้านดูทันสมัยเส้นสายน้อย และช่องแสงขนาดใหญ่เพื่อเปิดรับแสงและวิวธรรมชาติได้มาก
แนวคิดในการออกแบบ
สถาปนิกจับจุดเด่นของบ้านสไตล์นอร์ดิกมาใช้เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับอาคารอย่างหลังคาจั่วทรงสูง และช่องเปิดกระจกขนาดใหญ่ที่ผนังด้านทรงจั่วเพื่อรับแสงและวิวธรรมชาติ ส่วนผนังด้านข้างอาคารในทิศตะวันตกเฉียงใต้มีการเจาะช่องเปิดเล็กน้อยป้องกันแสงแดดส่องเข้ามาในบ้านโดยตรง แต่ยังสามารถระบายความร้อนและเพิ่มแสงภายในบ้านได้ รูปแบบของสถาปัตยกรรมจะใช้เส้นสายที่น้อย มีความมินิมอล เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่ปรุงแต่งเยอะ เน้นความสำคัญของสถาปัตยกรรมและพื้นที่ที่ดูสบายตา และผ่อนคลาย
สำหรับการใช้งานพื้นที่ แบ่งเป็น ห้องนอน 3 ห้อง ห้องน้ำ 4 ห้อง และพื้นที่พักผ่อนที่ถูกออกแบบเป็น Open Plan ให้ทำกิจกรรมภายในบ้านอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ครัว โต๊ะอาหาร และพื้นที่นั่งเล่น เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกที่เป็นสระว่ายน้ำและสวน
การออกแบบเพื่อลดร้อนและน้ำฝนรั่วซึม
ด้วยการออกแบบบ้านสไตล์นอร์ดิกที่มีอัตลักษณ์ชัดเจนคือหลังคาทรงสูงไม่มีชายคา ทำให้เสี่ยงเรื่องฝนรั่วฝนซึม หรือฝนสาดเข้าหน้าต่างได้สถาปนิกจึงดีไซน์หน้าจั่วที่ยื่นหลังคาออกไปเสมือนเป็นชายคาช่วยกันแดดกันฝนที่จะมาปะทะหน้าต่างบานใหญ่โดยตรง และกำหนดความลาดเอียงของหลังคามากกว่า 40 องศา เพื่อให้น้ำฝนไหลลงเร็วไม่ค้างอยู่ที่ขอบจนทำให้ผนังเป็นรอย
การลดร้อนให้บ้าน ด้วยความที่บ้านสไตล์นี้จะมีช่องเปิดที่ผนังด้านหลังคาจั่วขนาดใหญ่ 2 ด้าน ซึ่งรับแสงแดดค่อนข้างมากและอาจทำให้การถ่ายเทอากาศหรือความร้อนไม่เพียงพอเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องเจาะช่องเปิดที่ผนังอาคารด้านข้างด้วย แต่ด้วยความที่ไม่มีชายคาจึงอาจสุ่มเสี่ยงน้ำฝนไหลรั่วซึมที่ขอบหน้าต่างได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหน้าต่างบานเลื่อน ดังนั้น นอกจากการดูรายละเอียดของวัสดุ ขอบรางเลื่อน การระบายน้ำที่ขอบราง ซีลยางต่าง ๆ แล้ว ในการติดตั้งหน้าต่างจะเลือกวางตำแหน่งให้ชิดขอบผนังด้านในบ้านเพื่อให้มีขอบผนังด้านนอกที่หนากว่า ช่วยดักน้ำฝนที่ไหลมาจากผนังก่อนเข้าหน้าต่างโดยตรง ส่วนหน้าต่างที่เสมอพอดีกับผนังด้านนอกจะทำบัวผนังเพิ่มเป็นกรอบรอบหน้าต่างแทน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการระบายความร้อนในบ้านคือ การออกแบบให้ตำแหน่งกลางบ้านเป็น Double Space แล้วมีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ชั้นล่าง (ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นพื้นที่นั่งเล่นที่เปิดประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่รับลมชมวิวสระว่ายน้ำและสวน) เพื่อดึงเอาลมจากภายนอกดันความร้อนภายในบ้านขึ้นสู่ด้านบน แล้วระบายออกที่ช่องเปิดหน้าต่างชั้นบน อากาศจะหมุนเวียนถ่ายเทตลอดช่วยลดร้อนให้บ้านได้
การเลือกใช้วัสดุและการตกแต่ง
หลังคาบ้านหลักเลือกใช้หลังคาชิงเกิ้ล เพราะเข้ากับสไตล์ของบ้าน ส่วนหลังคาที่จอดรถเลือกใช้หลังคาเมทัลรูฟ เพราะเป็นระบบหลังคาแบบ Snap Lock ป้องกันการรั่วซึม
วัสดุตกแต่งอย่างพื้นและผนังจะเลือกใช้สีเอิร์ธโทนเพราะให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายตา ลวดลายที่เป็นธรรมชาติอย่างหินหรือไม้ โดยพื้นชั้นล่างจะเป็นกระเบื้องลวดลายหิน ส่วนชั้นบนและห้องนอนจะเป็นไม้ SPC ที่มีลวดลายสวยงามและให้สัมผัสนุ่มนวลสบายเท้า ห้องน้ำจะเลือกใช้กระเบื้องลายหินทั้งพื้นและผนัง คลุมโทนสีเทาและเบจ
การติดตั้งผ้าม่านที่หน้าจั่วเลือกใช้ผ้าม่านจับจีบติดถาวรแบบรางคู่ (ม่านทึบ,ม่านโปร่ง) ที่ติดชนชิดถึงด้านบน ข้อดีคือปิดกระจกหน้าจั่วทั้งหมด สวยงามเรียบร้อยไม่หลอกตา ข้อจำกัดคือไม่สามารถเลื่อนเปิดได้ทั้งหมด ต้องใช้วิธีการรวบผ้าม่านไว้ด้านข้างแทน แต่ด้วยความที่เป็นหน้าจั่วจึงเข้ากันไม่ดูขัดเขิน
บ้านนอร์ดิกเป็นที่นิยมมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เส้นสายน้อยดูเป็นบ้านยุคใหม่ หลังคาจั่วทรงสูงที่ดูน่าจะเหมาะกับบ้านเรา แต่ก็มีกระแสตีกลับว่าใครที่คิดจะทำบ้านสไตล์นี้ให้หลีกหนีไปให้ไกล เพราะมีปัญหาที่พบบ่อยอย่างน้ำรั่ว บ้านร้อน ซึ่งสำหรับสถาปนิกท่านนี้แล้วมองว่างานออกแบบหรือสไตล์บ้านต่างๆ ที่ลูกค้าหรือเจ้าของบ้านชื่นชอบ สามารถทำได้โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศของบ้านเรา และดีไซน์เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา เพียงเท่านี้งานออกแบบบ้านไม่ว่าจะเป็นสไตล์ไหนก็สามารถทำได้ไร้ข้อกังวลและตอบโจทย์แบบที่เจ้าของบ้านต้องการแล้ว
ขอขอบคุณ
เจ้าของโครงการ
สถาปนิก: Sombat Sunthoncharu
ภาพถ่าย: DOT LINE FRAME
Design Connext คอมมูนิตี้แหล่งรวมสถาปนิก/นักออกแบบ ที่ช่วยเชื่อมต่อทุกองศาของงานออกแบบ
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com