ทำหลังคาบ้านให้พร้อมรับทุกฤดู
ปัญหาบ้านร้อน และปัญหาหลังคารั่วซึม เป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันหรือลดโอกาสเกิดปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการออกแบบหลังคา การเลือกวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการติดตั้งอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือทุกฤดูกาลบ้านเรา
หลังคาบ้านที่ดี นอกจากเราจะเลือกรูปทรง สีสัน และรุ่นกระเบื้องที่สวยถูกใจเราแล้ว ยังมีเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาลบ้านเราที่มีผลต่อการออกแบบ การติดตั้ง การเลือกอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ที่จะช่วยให้เราได้หลังคาบ้านที่เตรียมพร้อมรับกับทุกฤดูกาลทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะฝนตกหนักหรือแดดแรงแค่ไหนก็ตาม (ดูแลรักษา)
ทำหลังคาให้พร้อมรับฤดูร้อน
ฤดูร้อนเมืองไทยมีอากาศที่ร้อนถึงร้อนมาก หลายบ้านก็แก้ปัญหาโดยการเปิดพัดลม เปิดแอร์ หรือแม้กระทั่งการอาบน้ำระหว่างวัน เพื่อคลายความร้อนให้เราสบายตัวขึ้น แต่ก็อาจตามมาด้วยค่าน้ำค่าไฟที่สูงขึ้น สำหรับใครที่กำลังจะสร้างบ้านใหม่ เราสามารถเตรียมรับมือได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ โดยการเลือกหลังคาทรงสูงมีความชันมาก การออกแบบให้มีช่องทางระบายอากาศเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งฝ้าชายคาระบายอากาศ การติดเกล็ดระบายอากาศบริเวณหน้าจั่วของหลังคา และการทำหลังคาแบบสองชั้น การออกแบบให้มีระยะชายคาที่ยืนยาวซึ่งจะช่วยทั้งบังแดดและบังฝนที่จะสาดเข้าตัวบ้านได้ รวมถึงการเลือกวัสดุหลังคาที่อมความร้อนต่ำ สามารถสะท้อนรังสีความร้อนออกไปได้
ออกแบบหลังคาให้รองรับน้ำฝนได้ มีการระบายที่ดี
เมื่อฤดูฝนมาถึง หลังคาบ้านเราจะต้องรองรับและสัมผัสน้ำเป็นปริมาณค่อนข้างมาก นอกจากจะอาศัยการออกแบบรูปทรงหลังคาและความชันที่เหมาะสมแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ โครงสร้างรองรับต้องแข็งแรง ติดตั้งจุดต่างๆ อย่างถูกวิธี ยึดติดจุดต่างๆ อย่างแน่นหนา สามารถต้านทานต่อลมที่พัดมาแรงๆ ได้ ทำระบบป้องกันรั่วซึมและการปิดรอยต่อตามจุดต่างๆ อย่างมีคุณภาพ โดยเลือกใช้อุปกรณ์ประกอบและวัสดุปิดรอยต่อที่มีคุณภาพและใช้งานได้นาน ทำระบบการระบายน้ำที่ดี และจบงานทุกส่วนได้อย่างถูกต้อง
ทำอะไรได้บ้าง เมื่อฤดูหนาวมาเยือน
สำหรับบ้านที่ผ่านพ้นช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนมาแล้ว ก็จะรู้ว่าเจอปัญหาอะไรมาบ้าง ฤดูหนาวจึงเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสำหรับการตรวจเช็คและปรับปรุงซ่อมแซมหลังคากัน
สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยไปแล้วและเจอกับอากาศร้อนๆ ที่แผดเผาเข้ามาภายในบ้านแล้วละก็ สามารถปรับเปลี่ยนบางจุดได้ เช่น เปลี่ยนฝ้าชายคาแบบทึบมาเป็นระแนงไม้หรือฝ้าชายคาแบบมีรูระบายอากาศเพื่อช่วยระบายความร้อน และติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมบริเวณเหนือฝ้าเพดาน นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งนวัตกรรมการถ่ายเทอากาศและระบายอากาศความร้อนออกจากตัวบ้านและโถงหลังคาได้เพิ่มเติมอีกด้วย เป็นต้น
ส่วนบ้านที่เจอกับปัญหาหลังคารั่วช่วงฤดูฝนที่ผ่านพ้นมา สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ สำรวจหาต้นตอของสาเหตุให้เจอก่อน ซึ่งสามารถเลือกวิธีจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบให้ หรือตรวจสอบเองเบื้องต้นก็สามารถทำได้เช่นกัน การตรวจสอบจะเป็นลักษณะการเจาะหรือเปิดฝ้าเพดานแล้วเช็คจุดที่มีแสงลอดเข้ามา สังเกตรอยคราบน้ำตามโครงหลังคา ฉีดน้ำขึ้นไปบนจุดที่น่าสงสัย เช็คบริเวณจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ครอบสันหลังคา รางน้ำตะเข้ จุดติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณต่างๆ ที่ต้องเจาะยึดกับกระเบื้องหลังคา เป็นต้น เมื่อเจอก็ให้ช่างที่เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาแก้ไขให้ตรงจุด หากปัญหาหลังคารั่วเกิดจากโครงสร้างหลังคาที่แอ่นตัวทำให้กระเบื้องเผยอจนน้ำรั่วซึมแล้วละก็ จำเป็นจำต้องรื้อกระเบื้องออก ซ่อมแซมโครงสร้างให้เรียบร้อย จึงจะปูกระเบื้องกลับคืนเดิมได้ ในกรณีโครงสร้างเสียหายมาก ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามารื้อเปลี่ยนใหม่โดยด่วนก่อนจะเกิดเหตุการณ์หลังคาพังถล่มลงมา
จะเห็นว่า แต่ละฤดูกาลมีความข้องเกี่ยวกับหลังคาบ้านเรา หากเรามีการเตรียมพร้อมอย่างดี ตั้งแต่ช่วงการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุและโครงสร้างที่เหมาะสม การก่อสร้างติดตั้งที่ดีมีมาตรฐาน โดยรับคำแนะนำต่างๆ จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ได้รับการติดตั้งจากช่างที่มีความชำนาญ จะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ ในระยะยาวลงไปได้มากทีเดียว
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com