รู้จัก 5 จุดเสี่ยง เพื่อเลี่ยงปัญหาหลังคารั่วซึม
รู้หรือไม่ว่า บ้านสร้างใหม่ที่ดูแข็งแรงสวยงาม ก็อาจมีจุดเสี่ยงรั่วซ่อนอยู่ ที่เมื่ออยู่อาศัยไปได้สักพัก ก็มีปัญหาหลังคารั่วซึม ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ตั้งแต่เริ่มสร้างบ้านใหม่ โดยการติดตั้งหลังคาอย่างมีมาตรฐาน โดยเฉพาะ 5 จุดเสี่ยงรั่วที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญงานติดตั้งหลังคาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไว้ตั้งแต่แรกและช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาหลังคารั่วซึม ซึ่ง 5 จุดเสี่ยงรั่วหากติดตั้งหลังคาไม่ได้มาตรฐาน มีดังนี้ (ดูแลรักษา)
1.โครงหลังคาบ้านไม่ได้มาตรฐาน
โครงสร้างหลังคามีหน้าที่รับน้ำหนักแผ่นกระเบื้องหลังคาทั้งหมด พร้อมกับทำหน้าที่ยึดผืนหลังคาเข้ากับตัวบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้แผ่นวัสดุหลังคาหลุดปลิวตามแรงลม อีกทั้งสามารถปกป้องผืนหลังคาไม่ให้เกิดปัญหารั่วซึมได้ ไม่ว่าจะเลือกใช้วัสดุชนิดใดทำโครงหลังคา (บ้านปัจจุบันมักเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพราะติดตั้งง่าย แข็งแรง ทนทาน) ก็ต้องอาศัยการคำนวณทางวิศวกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ เลือกใช้ช่างที่มีประสบการณ์และความชำนาญงานประกอบติดตั้งโครงหลังคา โดยติดตั้งอย่างมีมาตรฐาน ในระยะต่างๆ ตรงตามผู้ผลิตกำหนด และเหมาะสมกับวัสดุมุงแต่ละประเภท
ตัวอย่างปัญหาของการสร้างโครงหลังคาไม่ได้มาตรฐานที่มักพบได้บ่อย เช่น ประกอบจันทันไม่ได้ระดับ ส่งผลให้มุงกระเบื้องได้ระดับไม่เท่ากัน กระเบื้องจึงกระเดิดทำให้น้ำสามารถไหลซึมเข้ามาได้ หรือคุณภาพการเชื่อมเหล็กที่ไม่สนิท การทาสีกันสนิมที่โครงเหล็กด้วยมือ ก็อาจทำให้เกิดสนิมและผุพังก่อนเวลา รวมถึงข้อผิดพลาดที่เป็นจุดเล็กๆ ก็อาจเกิดเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลังได้ เจ้าของบ้านจึงควรตรวจสอบว่าขนาดเหล็กที่ใช้ในแต่ละจุดตรงสเป็กหรือไม่ ความหนาเท่าไหร่ ต้องมีมาตรฐานรับรองเพื่อยืนยันคุณภาพที่เชื่อถือได้ อีกทั้งต้องมีการเชื่อมประกอบและทาสีกันสนิมที่มีคุณภาพ
2.องศาของหลังคาไม่เหมาะสม
เมืองไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ไม่ว่าภาคไหนก็จะต้องเจอกับฝน ดังนั้นการติดตั้งหลังคาจึงต้องคำนึงถึงองศาความลาดเอียงที่พอเหมาะ เพื่อให้น้ำฝนไหลระบายลงมาได้ง่าย ซึ่งองศาหลังคาที่น้อยเกินไป นอกจากจะทำให้น้ำและความชื้นสะสมอยู่บนหลังคานานขึ้นที่ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายแล้ว ยังมีโอกาสทำให้น้ำฝนไหลย้อนกลับเข้าไปใต้ชายคาอีกด้วย หลักการออกแบบหลังคาที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดีจะใช้หลังคาทรงสูงที่มีความชันตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุที่ใช้มุงหลังคาและข้อกำหนดของหลังคาแต่ละชนิดด้วย หากเจ้าของบ้านต้องการหลังคาบ้านที่มีความลาดชันน้อย เพื่อให้รูปทรงหรือหน้าตาบ้านดูโมเดิร์นทันสมัย การปรับองศาความชันหลังคาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่วัสดุหลังคานั้นๆ จะรองรับได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาสถาปนิก วิศวกร หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคำนวณระยะซ้อนทับของแผ่นหลังคา ก่อนจะก่อสร้างจริง เพื่อป้องกันปัญหาหลังคารั่วซึม
3.ระยะแปห่างเกินไป หลังคาแอ่นตัว
หลายคนอาจสงสัยว่า การติดตั้งโครงหลังคาที่วางระยะแปห่างเกินไปหรือมุงกระเบื้องไม่ได้แนวตรง จะทำให้เกิดปัญหาหลังคารั่วซึมได้อย่างไร? อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “แป” เป็นชิ้นส่วนสำคัญของโครงสร้างหลังคา ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักกระเบื้องหลังคาทั้งผืน และหากติดตั้ง “จันทัน” ที่มีระยะห่างมากเกินไป จะทำให้แปต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้นไปด้วย ทำให้แปแอ่นตัวหรือเกิดการยุบตัวลงของหลังคาได้ ซึ่งจะไปดันกระเบื้องที่เคยเรียงตัวกันสนิทสูงโก่งขึ้นมาจนเกิดช่องว่าง ส่งผลให้เมื่อมีฝนตกลมแรงน้ำฝนจะสามารถไหลย้อนเข้ามาที่ส่วนใต้หลังคาได้
การป้องกันปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก คือ ต้องให้วิศวกรคำนวณน้ำหนักของหลังคา ความยาวของวัสดุมุง ให้สัมพันธ์กับขนาดของแปอย่างเหมาะสม ไม่ให้แปต้องรองรับน้ำหนักที่มากเกินไป ซึ่งต้องเป็นไปตามคำแนะนำในการใช้งานของวัสดุมุงหลังคาแต่ละรุ่น เช่น กระเบื้องคอนกรีต จะกำหนดให้ระยะแปตัวสุดท้ายล่างสุดห่างจากไม้เชิงชายประมาณ 34 – 34.5 ซม. ระยะช่วงแปที่เหลือต้องเฉลี่ยให้เท่าๆ กันประมาณ 31-33 ซม. หรือวัสดุเมทัลชีท แผ่นหนา 0.33-0.35 มม. ถ้าวางแปห่าง 1.50 เมตร จะกว้างไป ควรจะวางในระยะ 1.00-1.20 ม. เป็นต้น
4.ติดตั้งสันหลังคา ตะเข้สัน ไม่ได้มาตรฐาน
ส่วนของหลังคาที่พบว่าเกิดการรั่วซึมบ่อยๆ คือ บริเวณรอยต่อระหว่างผืนหลังคาแต่ละด้าน โดยเฉพาะบริเวณสันหลังคาและตะเข้สัน จึงต้องมีวัสดุครอบเป็นตัวปิดรอยต่อเอาไว้ ซึ่งช่างติดตั้งหลังคาส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธียึดครอบสันหลังคาแบบเปียกคือใช้ “ปูนซีเมนต์ผสมทรายและน้ำ” เป็นตัวยึดครอบ
ด้วยคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ จะช่วยจะยึดติดกับผิวแผ่นหลังคาและครอบติดกันได้และป้องกันการรั่วได้หากช่างฝีมือดี แต่ถ้าติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน เช่น โบกปูนล้นเข้าไปในตะเข้สัน หรือติดตั้งปูนใต้ครอบบางเกินไปและล้นที่หัวกระเบื้อง การติดตั้งครอบหลังคาที่ไม่แน่นหนา ยึดครอบไม่สนิท ติดตั้งครอบสันหลังคาไม่ได้ระดับ หรือตัดกระเบื้องร่องรางและตะเข้สันไม่ได้แนวตรง จะทำให้เกิดช่องว่างที่จะเป็นช่องทางให้น้ำซึมและรั่วเข้าสู่ตัวบ้านได้
อีกกรณีที่พบได้บ่อยคือ ปูนเกิดการเสื่อมสภาพจากการหดตัวของวัสดุ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงเกิดรอยแตกร้าวขึ้น เมื่อมีฝนตกลมกระโชกแรง จะพัดน้ำฝนให้ย้อนขึ้นมาได้ ส่งผลให้น้ำซึมเข้าตามรอยแตกของปูนที่อุดครอบสันหลังคา
5.น้ำรั่วบริเวณอุปกรณ์ยึด
การเจาะยึดกระเบื้องนั้นมีโอกาสเกิดช่องหรือรูโหว่ได้ โดยเฉพาะในวัสดุมุงประเภทที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ยึดอย่าง สกรู ตะปูเกลียว สำหรับแผ่นกระเบื้องที่เจาะรูสกรูผิดพลาดไม่ตรงแปแล้วไม่ได้อุดเก็บงานให้เรียบร้อย ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการรั่วซึม ซึ่งในขั้นตอนนี้ควรตรวจเช็คตั้งแต่ยังไม่ติดตั้งฝ้าเพดาน มิเช่นนั้นแล้วจะตรวจสอบได้ยาก อย่างไรก็ตามวัสดุที่ใช้งานไปนานๆ ก็ย่อมเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา นอกจากนี้ ตัววัสดุที่มีหน้าที่ป้องกันน้ำเข้าตามรอยยึดก็เช่นกัน หากเป็นสนิม หลุด ก็ทำให้มีรูรั่วขึ้นได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกวัสดุยึดที่มีคุณภาพสูง เพื่อความแข็งแรงและป้องกันสนิมได้
จะเห็นว่า การจะสร้างบ้านใหม่สักหลังนั้นมีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจ หากพลาดเพียงจุดเดียว ก็อาจเกิดปัญหาหลังคารั่วบานปลายตามมาได้ หากต้องการบ้านที่ไม่มีปัญหา หลังคาสวยงามและใช้งานได้ยาวนาน นอกเหนือจากจะมีสถาปนิกที่ออกแบบบ้านได้ตามต้องการ เลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ สวยงาม คงทนแล้ว สิ่งที่เจ้าของบ้านมือใหม่ไม่ควรมองข้ามคือ การเลือกทีมช่าง ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับงาน โดยเฉพาะงานหลังคาซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ใช่ช่างคนไหนๆ ก็สามารถทำได้ ดังนั้นต้องเลือกทีมช่างติดตั้งหลังคาที่มีความชำนาญมากประสบการณ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้งานหลังคาคุณภาพ ยืดอายุหลังคาให้สวยงามยาวนาน
มั่นใจยิ่งขึ้นเมื่อสร้างบ้านใหม่ เลือกใช้บริการมุงหลังคาครบวงจร จากเอสซีจี
- ติดตั้งโดยทีมช่างมืออาชีพ ที่เชี่ยวชาญด้านหลังคาโดยเฉพาะ พร้อมเทคโนโลยีการติดตั้ง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน ติดตั้งได้รวดเร็ว และลดความเสียหายของกระเบื้องหลังคา
- ควบคุมมาตรฐานการติดตั้งทุกขั้นตอน ดูแลทุกรายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบอย่างใกล้ชิด เริ่มที่ขั้นตอนการออกแบบ เลือกสินค้าคุณภาพ วางแผนติดตั้ง และรายงานความคืบหน้าให้เจ้าของบ้านทราบทุกระยะ
- มั่นใจด้วยการรับประกันการติดตั้ง สบายใจได้ทั้งในเรื่องความสวยงามและความคงทนของหลังคาหลังส่งมอบงาน
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com
ติดตาม
Facebook : SCGRachaprueck