HOUSING EXPERT BY SCG | สาขาราชพฤกษ์

ติดต่อฝ่ายขายโทร. 02-422-5995-8

ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ

เล่าถึงจุดเสี่ยงหลังคารั่วซึม ทั้งจุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ และจุดเสี่ยงหลังคารั่วตามผืนหลังคา เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาหลังคารั่วซึมในระยะยาว

ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหลังคารั่วซึมได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพนั้น เจ้าของบ้านควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงจุดเสี่ยงการรั่วซึมไม่ว่าจะเป็น “จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ” หรือ “จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามผืนหลังคา” ในครั้งนี้ SCG Home จะขอเล่าถึงจุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ ซึ่งนับว่าตอบโจทย์อย่างยิ่งโดยเฉพาะหลังคาบ้านที่มีรูปทรงสลับซับซ้อน มีรอยต่อมาก ก็จะยิ่งมีจุดเสี่ยงให้เกิดปัญหาหลังคารั่วซึมได้มากเช่นกัน

จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 1: ครอบสันหลังคาและตะเข้สัน

ปัญหาหลังคารั่วบริเวณนี้อาจมาจากการเสื่อมสภาพของปูนยึดครอบ หรือเกิดปัญหาที่ตัวครอบเอง รวมถึงการติดตั้งที่ผิดวิธี เช่น วางแปคู่สันห่างเกินไป มุงครอบเผยอ ใส่ปูนทรายล้นหัวกระเบื้อง เป็นต้น (ดูแลรักษา)

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 1
ภาพ: ตำแหน่งครอบสันหลังคา ครอบตะเข้สัน และแปคู่สันหลังคา ซึ่งถือเป็นอีกตำแหน่งจุดเสี่ยงของปัญหาหลังคารั่วซึม

วิธีแก้ไขในส่วนของปูนยึดครอบที่เป็นปัญหา ควรรื้อปูนและกระเบื้องครอบออกแล้วติดตั้งใหม่ให้ถูกวิธี (อาจเลือกใช้ระบบครอบแบบแห้ง หรือที่เรียกว่า Drytech System แทนเพื่อป้องกันปัญหารั่วซึมในระยะยาว) หากครอบเผยอ ให้รื้อติดตั้งใหม่โดยเจียรแต่งปลายครอบให้เรียบร้อย ส่วนกรณีที่แปคู่สันห่างเกินไป ให้รื้อแปออกแล้ววางใหม่ตามระยะที่ถูกต้อง

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 2
ภาพ: ตัวอย่างระบบครอบหลังคาแบบแห้ง (Drytech System) ช่วยป้องกันหลังคารั่วซึมในระยะยาว ตัดปัญหาครอบปูนแตกร้าวหรือติดตั้งครอบปูนผิดวิธี

จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 2 : แนวรอยต่อกระเบื้องหลังคาชนผนัง

ส่วนใหญ่เกิดจากปีก ค.ส.ล. ที่คลุมรอยต่อเกิดเสื่อมสภาพจนแตกร้าว หรือติดตั้งไม่ถูกต้อง เช่น เสียบเหล็กยึดผิดวิธี ปีก ค.ส.ล. สั้นกว่ามาตรฐาน ติดตั้งสูงหรือต่ำเกินไป เป็นช่องทางให้น้ำไหลเข้าได้จนเกิดปัญหาหลังคารั่วซึม กรณีนี้อาจต้องทุบรื้อทำใหม่ หรือเสริมความหนาตามความเหมาะสม อีกปัญหาที่พบคือ กระเบื้องหลังคาบริเวณใต้ปีกมีปัญหา เช่น แตกร้าว ติดตั้งห่างผนังเกินไป หรือ จุดที่ชนผนังไม่ใช่ลอนยก ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้โดยรื้อกระเบื้องหลังคาออกแล้วมุงใหม่ให้ถูกต้อง

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 3
ภาพ: ปีกค.ส.ล. (ซ้ายบนและล่าง) กับปัญหารั่วซึมบริเวณปีก ค.ส.ล. ได้แก่ ปีกค.ส.ล.แตกร้าว (ขวาบน) กระเบื้องหลังคาจุดที่ชนผนังไม่ใช่ลอนยก (ขวากลาง) และ ติดตั้งปีกค.ส.ล.สูงเกินไป (ขวาล่าง)

ทั้งนี้หากจะป้องกันปัญหาหลังคารั่วในระยะยาว อาจเปลี่ยนจากปีก ค.ส.ล. มาเป็นการใช้แผ่นปิดรอยต่อ ปิดเชื่อมระหว่างกระเบื้องหลังคากับผนัง แล้วครอบด้วย Flashing สเตนเลส เหนือแผ่นปิดรอยต่อ สำหรับกระเบื้องหลังคาบางรุ่นอาจมี ชุดระบบครอบผนังให้เลือกใช้แทนซึ่งดูสวยงามกว่า (ประกอบด้วย แผ่นปิดรอยต่อ และ Flashing สเตนเลสแบบสั้น พร้อมกระเบื้องครอบผนัง)

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 4
ภาพ: การใช้แผ่นปิดรอยต่อแทนปีกค.ส.ล. ช่วยป้องกันปัญหาหลังคารั่วซึม โดยปิดทับด้วย Flashing สเตนเลส (ซ้าย) กับอีกทางเลือกหนึ่งคือใช้ชุดระบบครอบผนังสำเร็จรูปซึ่งจะมีเฉพาะกระเบื้องหลังคาบางรุ่น (ขวา)

จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 3: รอยต่อบริเวณตะเข้ราง รางน้ำฝนเชิงชาย

อาจเกิดปัญหาหลังคารั่วเนื่องด้วยการติดตั้งรางที่ไม่ได้มาตรฐาน รางน้ำเก่าผุ หรือรูปทรงเล็กแคบเกินไป ระบายน้ำยากจนน้ำล้นราง ไหลย้อนเข้าใต้กระเบื้องหลังคาไปหยดในบ้านได้ ในการแก้ไขและป้องกัน นอกจากเจ้าของบ้านจะต้องเลือกรางน้ำที่ได้คุณภาพ และการติดตั้งที่ได้มาตรฐานแล้ว ควรนำเศษใบไม้กิ่งไม้ออกจากรางน้ำเป็นประจำเพื่อป้องกันการอุดตัน สำหรับรางน้ำฝนเชิงชายอาจเลือกใช้รุ่นที่มีตะแกรงปิดกันใบไม้ เพื่อความสะดวก

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 5
ภาพ: ตะเข้รางบนหลังคา (บนและล่างซ้าย) กับรางน้ำตะเข้เหล็กชุบกัลวาไนซ์กันสนิม (ขวา)
รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 6
ภาพ: รางน้ำฝนไวนิล (ซ้ายบนและล่าง) ซึ่งติดตั้งบริเวณเชิงชาย และตะแกรงปิดรางน้ำกันใบไม้ (ขวา)

นอกจากบริเวณรอยต่อที่เล่าไปทั้งหมดแล้ว หากเป็นไปได้ ในการมุงหรือปรับปรุงหลังคาครั้งถัดไป แนะนำให้ใช้แผ่นปิดรอยต่อบริเวณจุดเสี่ยงอื่นๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงรั่วซึมในระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณที่ปีก ค.ส.ล. ชนกับตะเข้สันหรือสันหลังคา บริเวณที่ปั้นลมชนกับตำแหน่งต่างๆ (ปีก ค.ส.ล., สันหลังคา, เชิงชาย, ตะเข้สัน) รวมถึงบริเวณหัวตะเข้รางน้ำ เป็นต้น

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 7
ภาพ: แผ่นปิดรอยต่อ และการใช้งานบริเวณที่ปั้นลมชนกับตะเข้สัน

มาถึงตรงนี้ เจ้าของบ้านคงได้แนวทางในการป้องกันและแก้ไขจุดเสี่ยงปัญหารั่วซึมบริเวณรอยต่อหลังคาบ้านไปพอสมควร อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านควรทราบด้วยว่านอกจากบริเวณรอยต่อหลังคาแล้ว บนผืนหลังคาบ้านก็อาจเกิดปัญหารั่วซึมได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะขอเล่าถึงในตอนถัดไป

ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com

ใส่ความเห็น

×

Cart