ลดร้อนให้บ้านชั้นเดียวเย็นขึ้น 10 กว่าองศา ด้วยฉนวนกันความร้อน Stay Cool
ลดร้อนให้บ้านชั้นเดียวเย็นขึ้น 10 กว่าองศา ด้วยฉนวนกันความร้อน Stay Cool ลดร้อนให้บ้านชั้นเดียวเย็นขึ้นกว่าภายนอกได้ถึง 10 กว่าองศา ด้วยการใช้ฉนวนกันความร้อน Stay Cool ขนาดความหนา 6 นิ้ว พร้อมบริการติดตั้งจาก เอสซีจี (ดูแลรักษา)
หากใครกำลังจะวางแผนสร้างหรือซื้อบ้านชั้นเดียว แต่มีความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องความร้อนที่จะผ่านเข้าสู่ตัวบ้านทางหลังคาแล้วล่ะก็ บทความนี้เราขอพาไปเยี่ยมชมบ้านชั้นเดียว ที่มีอุณหภูมิภายในบ้านเย็นกว่าภายนอกถึง 10 กว่าองศา ด้วยการใช้ฉนวนกันความร้อน Stay Cool
คุณอมกฤต ชื่นจิต หรือคุณตู่ เจ้าของบ้านหลังนี้ เป็นวิศวกรหนุ่มชาวพังงา แต่มาหลงใหลในวิถีชีวิตของเมืองเชียงใหม่ จึงตัดสินใจซื้อบ้านชั้นเดียวภายในโครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ชานเมือง เพราะรู้สึกว่าบริเวณชานเมืองนั้นอากาศดี และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่าในเมือง และวัตถุประสงค์หลักของการซื้อบ้านหลังนี้คือ การเตรียมตัวมาอยู่ถาวรหลังจากเกษียณอายุการทำงานแล้ว จึงเลือกเป็นบ้านชั้นเดียว เพื่อความสะดวกและปลอดภัยที่ไม่ต้องเดินขึ้น-ลงบันได
ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านชั้นเดียว คุณตู่ก็มีความกังวลเรื่องความร้อนเหมือนกัน เพราะหากเป็นบ้าน 2 ชั้นขึ้นไป อย่างน้อยพื้นที่ชั้นบนย่อมมีส่วนช่วยกันความร้อนจากหลังคาบ้านได้อีกชั้น แต่บ้านชั้นเดียวจะได้รับความร้อนส่งต่อทางหลังคาบ้านได้โดยตรง ผู้อยู่อาศัยบ้านชั้นเดียวจึงไม่มีพื้นที่ให้หลบร้อนในยามกลางวัน แต่ด้วยวิชาชีพการทำงานด้านวิศวกรและจากการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้คุณตู่มั่นใจว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมปัจจุบันสามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
หลังจากซื้อบ้านได้ไม่นาน ก่อนตกแต่งห้องต่างๆ คุณตู่จึงหาวิธีป้องกันความร้อนที่เข้ามาทางผนังกระจก โดยการติดฟิล์มกรองแสง และจุดสำคัญคือบริเวณหลังคาที่จะได้รับความร้อนโดยตรง คุณตู่เลือกใช้ ฉนวนกันความร้อน เอสซีจี รุ่น STAY COOL ขนาดความหนา 6 นิ้ว พร้อมบริการติดตั้ง จากร้านตัวแทนจำหน่ายนพดลพาณิชย์ โดยทางร้านส่งทีมมาสำรวจประเมินหน้างาน เพื่อเสนอราคาก่อนติดตั้ง และยังสำรวจโครงสร้างการรับน้ำหนักของฝ้าให้ก่อนอีกด้วย เมื่อถึงวันติดตั้ง ทีมช่างจะทำการเปิดช่องฝ้าเพดาน เพื่อให้มีพื้นที่นำแผ่นฉนวนขึ้นไปปูบนฝ้าเพดาน บ้านหลังนี้พื้นที่ใช้สอยประมาณ 150 ตร.ม. ใช้ระยะเวลาติดตั้ง 1 วัน ก็แล้วเสร็จ สามารถอยู่อาศัยได้ตามปกติ
หลังจากติดตั้งฉนวนกันความร้อน Stay Cool คุณตู่เล่าว่า “สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ บ้านร้อนช้าลง ช่วงฤดูกาลทั่วไปอย่างฤดูฝน ฤดูหนาว หรือวันปกติที่อากาศไม่ร้อนมากเกิน สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์ แค่เพียงมีพัดลมก็สามารถอยู่สบายแล้ว แต่หากเป็นช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา ก็จำเป็นต้องเปิดแอร์ แต่ก็ช่วยยืดเวลาได้ดีกว่าตอนที่ไม่ติดตั้งมาก เช่น หากไม่ติดตั้งฉนวนกันร้อน บ้านจะเริ่มร้อนตั้งแต่ก่อนเที่ยง แต่หลังจากติดตั้งบ้านจะเริ่มร้อนช่วงบ่ายโมง บ่ายสองโมงเป็นต้นไป การมีฉนวนกันความร้อนจึงช่วยยืดเวลาให้สามารถอยู่ภายในบ้านสบายยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าเมื่ออุณหภูมิภายในบ้านลดลง ก็ช่วยลดการทำงานของแอร์ ช่วยลดค่าไฟในระยะยาวได้อีกด้วย”
Tip: การเลือกขนาดความหนาของฉนวนกันความร้อนที่เหมาะสม ให้ลองสำรวจพื้นที่ว่างบนฝ้าเพดานก่อน เพราะรูปทรงหลังคาบางประเภท เช่น หลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก (หลังคา Slab), หลังคาเพิงแหงน จะมีพื้นที่ว่างใต้โถงหลังคาไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องเลือกฉนวนกันความร้อนที่มีความบางลง แต่หากเป็นบ้านหลังคาปั้นหยา จั่ว มนิลา โดยปกติจะมีพื้นที่ใต้โถงหลังคาสูง แนะนำให้เลือกฉนวนกันความร้อนที่ 6 นิ้ว เพื่อให้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุด เพราะยิ่งหนาก็ยิ่งกันความร้อนได้ดีกว่า
ในส่วนการตกแต่งบ้าน คุณตู่เลือกใช้กระเบื้องสีขาวสะอาดตาในการปูพื้น และหินอ่อนลายสวยสำหรับท็อปเคาน์เตอร์ ซึ่งทั้งสองวัสดุนี้สามารถเก็บกักความเย็นได้อย่างดีเมื่อเปิดแอร์ และเมื่อปิดแอร์ก็จะคายความเย็นออกมา ทำให้รู้สึกเย็นสบายเมื่อได้สัมผัส
เมื่อเราเดินชมภายในบ้านครบแล้ว จึงมาลองตรวจวัดอุณหภูมิภายในห้องนอน โดยวางอุปกรณ์ไว้บริเวณหัวเตียงในช่วงเวลาเที่ยงวัน ผลที่ได้คือ ห้องนอนมีอุณหภูมิ 29.2 องศา ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่สามารถอยู่ได้แบบสบายๆ โดยไม่ต้องเปิดแอร์
จากนั้นเราจึงเดินออกไปวัดอุณหภูมิภายนอกบ้าน ซึ่งอุณหภูมิที่วัดได้คือ 41.6 องศา ต่างกับภายในห้องนอนมากถึง 12.4 องศา แต่ทั้งนี้ ความต่างของอุณหภูมิแต่ละบ้านอาจแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หลังคาบ้าน, งานสี และการระบายอากาศภายในบ้าน
การติดตั้งฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน นับเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน แต่หากต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้บ้านของเราเย็นยิ่งขึ้น ควรใช้วิธีอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น การออกแบบบ้านให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี, เลือกก่อผนัง 2 ชั้นในทิศตะวันตกและทิศใต้, ก่อผนังด้วยอิฐมวลเบา, ทาสีผนังบ้านที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน รวมทั้งการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกรองแสงแดดและให้ร่มเงา
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ: www.banidea.com
ขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com