ศัพท์คนสร้างบ้าน ตีเต๊า
ตีเต๊า คือ ขั้นตอนการสร้างแนวเส้นสำหรับใช้ในการอ้างอิงตำแหน่งระหว่างก่อสร้าง เครื่องมือสำหรับการตีเต๊าจะทำให้เกิดสีเป็นแนวเส้นตรงบนส่วนต่างๆของอาคาร อย่างเช่นโครงหลังคา พื้น หรือผนัง เตรียมไว้สำหรับการก่อสร้างขั้นต่อไปที่ต้องการความเที่ยงตรงของระยะหรือตำแหน่งในการติดตั้ง เช่น ก่อผนัง ติดตั้งประตู มุงกระเบื้อง ติดตั้งรางน้ำ เทพื้น เลื่อยไม้ ติดตั้งโครงคร่าว วางท่อประปาหรือท่อร้อยสายไฟ เป็นต้น
เครื่องมือตีเต๊า เรียกว่า เต๊า มีลักษณะเป็นกล่องอะลูมิเนียมหรือพลาสติกรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ภายในบรรจุด้วยม้วนเชือก ปลายด้านหนึ่งโผล่ออกมานอกกล่องผูกติดกับห่วงเหล็กหรือตะขอ ทำให้สามารถดึงเชือกออกมาได้ตามระยะที่ต้องการ และสามารถม้วนเก็บเชือกกลับเข้าไปในกล่องได้ด้วยการหมุนด้ามจับเล็กๆกลางกล่อง
เมื่อต้องการใช้งานให้เทผงสีฝุ่นหรือผงถ่านลงในกล่อง(อาจใส่น้ำเล็กน้อย หรือไม่ใส่ก็ได้) เขย่าเพื่อให้ผงสีคลุกกับเชือกให้ทั่ว จากนั้นดึงเชือกออกมาแล้วใช้มือจับหรือผูกปลายด้านที่มีเหล็กหรือตะขอไว้กับส่วนของอาคารที่ต้องการสร้างแนว เช่น พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน หรือโครงหลังคา เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของแนวเส้น หากต้องการบันทึกความยาวหรือแบ่งระยะเป็นช่วงๆสำหรับเอาไปใช้งานกับส่วนอื่น ก็สามารถผูกปมหรือทำเครื่องหมายไว้บนเชือกได้ ส่วนปลายเชือกอีกด้านหนึ่งจะยังคงขดอยู่ในกล่อง โดยให้ถือกล่องไว้ในมือแล้วปรับความยาวพร้อมทั้งเคลื่อนตัวเพื่อหาตำแหน่ง จนเมื่อเส้นเชือกอยู่ในแนวระยะหรือตำแหน่งที่ต้องการแล้ว จึงดึงเชือกให้ตึงและใช้นิ้วกดเชือกส่วนที่โผล่ออกมานอกกล่องประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อสร้างจุดสิ้นสุดของแนว จากนั้นดีดเชือกด้วยการหยิบเชือกบริเวณกึ่งกลางของความยาวให้สูงขึ้นมาประมาณ 20-30 เซนติเมตรแล้วปล่อยมือ ด้วยความตึงของเชือกจะทำให้เชือกดีดกลับมาที่ตำแหน่งเดิมและทำให้ผงสีในเชือกติดอยู่บนส่วนของอาคารนั้นด้วย เกิดเป็นแนวเส้นสีตามที่เราต้องการ
ศัพท์คนสร้างบ้าน ตีเต๊า คือ ขั้นตอนการสร้างแนวเส้นสำหรับใช้ในการอ้างอิงตำแหน่งระหว่างก่อสร้าง เครื่องมือสำหรับการตีเต๊าจะทำให้เกิดสีเป็นแนวเส้นตรงบนส่วนต่างๆของอาคาร อย่างเช่นโครงหลังคา พื้น หรือผนัง เตรียมไว้สำหรับการก่อสร้างขั้นต่อไปที่ต้องการความเที่ยงตรงของระยะหรือตำแหน่งในการติดตั้ง เช่น ก่อผนัง ติดตั้งประตู มุงกระเบื้อง ติดตั้งรางน้ำ เทพื้น เลื่อยไม้ ติดตั้งโครงคร่าว วางท่อประปาหรือท่อร้อยสายไฟ เป็นต้น