อยู่ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว จะลดปัญหาบ้านร้อนได้อย่างไร
แนะนำแนวทางการลดปัญหาบ้านร้อนสำหรับทาวน์เฮาส์ ตึกแถว โดยเน้นส่วนหลังคาก่อน รองลงมาคือผนัง ช่องเปิด และพื้นหน้าบ้าน
(บทความหมวด : ดูแลรักษา)
สำหรับที่อยู่อาศัยในเขตร้อนอย่างเมืองไทย การลดปัญหาบ้านร้อนเป็นประเด็นที่พูดถึงกันบ่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ทาวน์เฮาส์และตึกแถว ซึ่งเผชิญปัญหาบ้านร้อนน้อยกว่าที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว เนื่องด้วยผนังส่วนใหญ่เชื่อมกับเพื่อนบ้าน แดดและความร้อนจึงเข้าบ้านน้อยกว่า ทั้งนี้ ในการรีโนเวทตึกแถวหรือทาวน์โฮมเพื่อลดปัญหาบ้านร้อน อันดับแรกควรเน้นที่หลังคาซึ่งเป็นช่องทางที่โดนแดดโดยตรงมากสุด จากนั้นจึงค่อยพิจารณาการลดความร้อนที่ผนัง ประตู หน้าต่าง (โดยเฉพาะยูนิตริมสุดผนังจะโดนแดดมากกว่ายูนิตอื่นๆ) และพื้นที่บริเวณหน้าบ้าน ตามความเหมาะสม
ลดบ้านร้อนจากหลังคา
หลังคาบ้านทาวน์โฮมหรือตึกแถวมักมี 2 แบบ คือ “หลังคาที่มีวัสดุมุง” กับ “หลังคาดาดฟ้า” สำหรับหลังคาที่มีวัสดุมุง สามารถลดความร้อนได้โดยใช้ฉนวนกันความร้อนติดเหนือฝ้าเพดานชั้นบนสุด และใช้ฝ้าชายคาที่มีรูสำหรับระบายอากาศ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการระบายความร้อน
ส่วนหลังคาดาดฟ้า ก็คือพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นบนสุดซึ่งปกติจะไม่มีหลังคาปกคลุม ดาดฟ้าที่โดนแดดจัดๆ ทั้งวันจะอมความร้อนไว้เต็มที่ และคายความร้อนแผ่เข้าบ้านในช่วงค่ำทำให้บ้านร้อนอบอ้าว การลดปัญหาบ้านร้อนจากหลังคาดาดฟ้าทำได้หลายทาง ตั้งแต่การทาสีสะท้อนความร้อน การติดตั้งฉนวนกันความร้อนเหนือฝ้าเพดานที่อยู่ใต้พื้นดาดฟ้า การติดตั้งวัสดุอื่นๆ ทับ เช่น หญ้าเทียม พื้นไม้ พื้นไม้เทียม กระเบื้อง โดยอาจตกแต่งเป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือสวนดาดฟ้าเพิ่มเติม อีกวิธีที่ทำได้คือ การต่อเติมหลังคากันแดดคลุมพื้นดาดฟ้าซึ่งมีข้อดีคือช่วยกันทั้งแดดและฝน แต่ก็ต้องคำนึงเรื่องโครงสร้างกับข้อกำหนดทางกฎหมายให้เหมาะสมด้วย จึงควรปรึกษาสถาปนิกและวิศวกรก่อนเสียก่อน
ลดบ้านร้อนจากผนัง
ผนังก่ออิฐฉาบปูนมักอมความร้อนจากแสงแดดเช่นเดียวกับคอนกรีต หากจะลดปัญหาบ้านร้อนในส่วนนี้ แนะนำให้ทำผนังเบาเพิ่มอีกชั้นซ้อนทับผนังอิฐเดิม โดยอาจเน้นเฉพาะด้านที่โดนแดดแรงก็ได้ วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดการสะสมความร้อนในผนังอิฐแล้ว ยังสามารถซ่อนฉนวนกันความร้อนไว้ด้านในได้ด้วย ข้อคำนึงคือ คือ หากติดตั้งผนังเบาที่ฝั่งผนังภายนอกจะต้องคำนึงเรื่องหน้าตาของบ้านโดยรวมและเลือกใช้วัสดุผนังที่ทนแดดฝนได้ เช่น ไม้ฝา แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นต้น แต่ถ้าติดตั้งที่ฝั่งผนังภายในให้คำนึงเรื่องการโยกย้ายตำแหน่งปลั๊กไฟ และความหนาผนังที่รวมโครงคร่าวแล้ว ( ประมาณ 7-10 ซม.) จะทำให้พื้นที่ห้องลดลงเล็กน้อย
ประตูหน้าต่างก็เป็นอีกช่องทางของผนังที่ให้แดดส่องเอาความร้อนเข้ามาในบ้านได้ หากเป็นด้านที่แดดส่องมากๆ ควรติดหลังคากันสาดหรือแผงระแนงบังแดด ซึ่งช่วยกรองแสงและความร้อนได้ดีกว่าการติดผ้าม่าน (ผ้าม่านอาจช่วยกรองแสงแดดบางส่วน แต่จะไม่สามารถป้องกันความร้อนที่ทะลุผ่านกระจกหรือช่องเปิดเข้ามาในบ้านได้)
ลดบ้านร้อนจากพื้นหน้าบ้าน
บ้านทาวน์โฮมมักมีที่จอดรถหน้าบ้านเป็นพื้นคอนกรีต หากเป็นจุดที่โดนแดดประจำ พื้นคอนกรีตจะสะสมความร้อนไว้มาก เราสามารถเปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นที่อมความร้อนน้อยลงได้ เช่น หญ้าเทียม กระเบื้องดินเผา บล็อกหญ้า บล็อกปูพื้นรุ่นพิเศษที่ลดความร้อนบริเวณผิวหน้า หรือวิธีอื่นๆ อย่างแบ่งพื้นคอนกรีตเป็นช่องที่เล็กลงสลับกับพื้นดิน พื้นหญ้า หรือหากระถางต้นไม้มาวาง หากมีพื้นที่พออาจเลือกต้นไม้แบบพุ่มทรงสูงช่วยป้องกันแสงแดดกระทบพื้นคอนกรีตและผนังได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การลดปัญหาบ้านร้อน ไม่ว่าจะเป็นตึกแถว ทาวน์โฮม หรือบ้านเดี่ยวก็ตาม นอกจากจะป้องกันไม่ให้ความร้อนเข้าบ้านแล้ว ยังต้องหาวิธีระบายความร้อนออกไปจากบ้านด้วย โดยหมั่นเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทเข้าออก และไม่วางเฟอร์นิเจอร์ขวางทางลม สำหรับบ้านที่ต้องปิดประตูหน้าต่างไว้ทั้งวัน อาจเปลี่ยนหน้าต่างชั้นล่างบางชุดเป็นบานเกล็ดพร้อมมุ้งลวดเพื่อให้ระบายอากาศได้ รวมถึงติดตั้งพัดลมระบายอากาศ (พัดลมดูดอากาศ) ที่ผนังหรือฝ้าเพดานชั้นบน สำหรับทาวน์โฮมที่กั้นโถงหลังคาแยกกันกับเพื่อนบ้าน สามารถเลือกติดตั้งกลไกที่ช่วยให้อากาศและความร้อนในบ้านระบายออกได้โดยอัตโนมัติ แม้จะปิดบ้านไว้ทั้งวัน
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com