เรื่องน่ารู้ก่อนเลือกฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้าน
เรื่องน่ารู้ก่อนเลือกฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้าน ทำความรู้จักฟิล์มกรองแสงในเรื่องของคุณสมบัติ การป้องกันแสงอาทิตย์กับรังสีต่างๆ และหลักการเลือกซื้อเพื่อให้ได้ฟิล์มติดกระจกบ้านที่ดีมีคุณภาพ เหมาะกับการใช้งานในบ้าน
สำหรับบ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือคอนโดมิเนียมนั้น ฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้านถือเป็นตัวช่วยในการลดสิ่งไม่พึงประสงค์จากแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านกระจกประตูหน้าต่าง ไม่ว่าจะเป็น “ความร้อน” ที่ทำให้เรารู้สึกแสบผิว เหนอะหนะ และสิ้นเปลืองค่าแอร์ “แสงจ้าของพระอาทิตย์” ที่ทำให้ไม่สบายตา รวมถึง “รังสี UV” ที่ทำร้ายผิวหนัง ทั้งยังทำให้ข้าวของเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์ในบ้านสีซีดจางเสื่อมสภาพ วันนี้ SCG HOME จึงขอนำเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวสำหรับฟิล์มกรองแสงมาฝากสำหรับเจ้าของบ้านที่สนใจอยากจะใช้งาน
รู้จักฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้าน
ฟิล์มกรองแสงผลิตจาก “โพลีเอสเตอร์” เป็นวัสดุแผ่นใสผิวเรียบ เหนียว ทนทาน ยืดหยุ่นดี ดูดซับความชื้นน้อย ทนอุณหภูมิได้ทั้งสูงและต่ำ เฉดสีและความอ่อนเข้มของฟิล์มกรองแสงที่เราเห็นนั้นเกิดจากการใส่สีเพิ่ม ฟิล์มกรองแสงที่มีคุณภาพจะผลิตโดยใส่สีลงในเนื้อฟิล์ม (ไม่ใช่แค่ย้อมเคลือบบนผิวหรือผสมสีในกาว) ซึ่งจะทำให้สีติดทนนาน ไม่เปลี่ยนหรือซีดจางแม้จะใช้งานเป็นเวลานาน
ฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้าน กันความร้อน และ UV ได้อย่างไร
เรามักรู้สึกว่าสีของฟิล์มกรองแสงยิ่งเข้ม ยิ่งมืด น่าจะกันความร้อนได้ดี แต่ความเป็นจริงแล้ว สีของฟิล์ม “ไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์และรังสี UV โดยตรง” คุณสมบัติที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ดีต่อเมื่อฟิล์มนั้นผ่านการเคลือบไอโลหะหรือเซรามิกเพื่อเป็นตัวช่วยในการสะท้อนความร้อน (ฟิล์มเคลือบเซรามิกจะดูใสกว่า และสะท้อนแสงน้อยกว่าฟิล์มเคลือบโลหะ) รวมถึงมีการเพิ่มสารป้องกัน UV ลงไปในฟิล์มด้วย ดังนั้นฟิล์มที่มีสีเข้มๆ มืดๆ ก็ไม่ได้แปลว่าจะกันความร้อนหรือรังสี UV ได้ดีกว่าฟิล์มที่ดูใสสว่างเสมอไป
ฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้านที่ดี มีคุณภาพเป็นอย่างไร
1) มีค่าการป้องกันแสงอาทิตย์ที่ดีเหมาะกับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ค่าแสงส่องผ่าน (VLT) ค่าสะท้อนแสง (VLR) ค่ากันรังสี UV ค่ากันรังสีอินฟราเรต (IRR) ค่าการลดความร้อนจากแสงแดด (TSER) รวมถึงสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากแสงอาทิตย์ (SHGC) ซึ่งค่าที่เล่ามานี้ควรมาจากการทดสอบกับแสงอาทิตย์ จะตรงกับการใช้งานมากกว่าการใช้สปอตไลท์ทดสอบ เนื่องจากระดับแสงสว่าง รังสีอินฟราเรดและรังสี UV ที่ได้จากแสง 2 ชนิดนี้จะแตกต่างกัน ดังนั้น ฟิล์มที่มีค่ากันรังสีความร้อนจากสปอตไลท์สูง ไม่ได้แปลว่าจะกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดี
2) กาวติดฟิล์มดีมีคุณภาพ ทั้งกาวที่ประกบฟิล์มแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน และกาวที่ใช้ติดฟิล์มเข้ากับกระจก ควรจะมีความบาง ใส เหนียว ทนอุณหภูมิกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอด สามารถยึดกับกระจกได้ดี ไม่ทำให้เกิดฟองอากาศ พอง ลอกล่อน และไม่เปลี่ยนสีเมื่อใช้งานไปนานๆ นอกจากนี้ เวลาลอกฟิล์มออกกาวควรจะติดอยู่กับฟิล์ม ไม่ใช่ติดกับกระจก
3) ป้องกันรอยขีดข่วนได้ เนื่องด้วยผิวของวัสดุโพลีเอสเตอร์จะเกิดรอยขีดข่วนแบบขนแมวง่าย ฟิล์มกรองแสงที่ดีจึงต้องมีการเคลือบสารป้องกันรอยขีดข่วนที่ผิวหน้า เพื่อความสวยงามและการใช้งานที่ยาวนาน
4) ความหนาฟิล์มที่เหมาะสม ฟิล์มกรองแสงสำหรับติดอาคารบ้านเรือนทั่วไป (ที่ไม่ใช่ฟิล์มนิรภัย) ความหนามาตรฐานจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 mil. ซึ่งถือว่าไม่หนาจนเกินไป สามารถติดตั้งได้ง่าย
จะเลือกฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้านอย่างไรให้เหมาะและดี
1) พิจารณาคุณสมบัติของฟิล์มกรองแสงให้ตรงความต้องการ หลักง่ายๆ คือ ให้เลือกความเข้มความใสที่ต้องการ หรือดูที่ค่าแสงส่องผ่านของฟิล์มแต่ละรุ่น ซึ่งจะส่งผลในเรื่องการลดแสงจ้าของพระอาทิตย์ ความเป็นส่วนตัว และความชัดในการมองวิวด้านนอก จากนั้นจึงดูค่าการลดความร้อนจากแสงแดด สำหรับฟิล์มที่มีสีและความเข้มความใสใกล้เคียงกัน รุ่นที่สะท้อนแสงดีกว่า (ดูคล้ายกระจกเงาเมื่อมองจากภายนอก) ส่วนใหญ่จะลดความร้อนได้มากกว่า เพราะมีปริมาณโลหะเคลือบเยอะกว่า (ยกเว้นฟิล์มเคลือบเซรามิกซึ่งกันความร้อนได้ดีแต่จะสะท้อนแสงน้อยกว่าฟิล์มเคลือบโลหะ) ทั้งนี้ หากเจ้าของบ้านต้องการเน้นเรื่องการลดความร้อนเป็นพิเศษ อาจเลือกรุ่นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟิล์มประหยัดพลังงานเบอร์ 5*
*เป็นมาตรฐานการทดสอบฟิล์มกรองแสงในประเทศไทย ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยใช้เกณฑ์การวัดค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากแสงอาทิตย์ หรือ SHGC (Solar Heat Gain Coefficient) จะต้องมีค่าที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.45
2) จุดประสงค์การใช้งานและตำแหน่งที่ตั้ง เช่น ห้องอยู่ชั้นล่างและต้องการบังสายตาอาจเน้นฟิล์มสีเข้ม ห้องทางทิศตะวันตกซึ่งโดนแดดแรงควรเลือกฟิล์มที่ช่วยลดแสงจ้าของพระอาทิตย์และมีค่ากันความร้อนสูง สำหรับห้องที่ต้องการชมวิวทั้งกลางวันและกลางคืนแต่ต้องการลดความร้อนด้วย อาจใช้ฟิล์มใส ค่าแสงส่องผ่านสัก 40% แต่กันความร้อนได้สูง เป็นต้น (สำหรับคอนโดมิเนียม มักมีข้อกำหนดเรื่องฟิล์มกรองแสง เช่น ความเข้ม สี การสะท้อนแสง ควรเช็คกับทางนิติบุคคลก่อนเลือกซื้อฟิล์ม)
3) ยี่ห้อฟิล์มและร้านค้าที่น่าเชื่อถือ โรงงานผลิตต้องได้มาตรฐาน บริษัทผู้นำเข้าควรมีชื่อเสียงในการขายสินค้าคุณภาพคุ้มราคามาเป็นเวลานาน ในส่วนของร้านค้า แนะนำซื้อฟิล์มจากร้านที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้จำหน่ายโดยสังเกตจากป้ายหน้าร้าน ใบรับรองการแต่งตั้ง ใบรับประกันสินค้า หรือโทรสอบถามจากบริษัทฟิล์มโดยตรง
4) ทีมติดตั้งฟิล์มควรมีความชำนาญ สามารถกรีดตัดฟิล์มให้ได้ขนาดเสมอพอดีกับขอบยาง โดยไม่ทำให้กระจกเป็นรอย รวมถึงไม่กรีดโดนขอบยางกระจกเสียหาย เพราะหากกรีดโดนขอบยาง แม้จะใช้ซิลิโคนยิงซ่อมก็อาจเกิดปัญหารั่วซึมเมื่อใช้งานไปนานๆ ได้ (ควรยิงซิลิโคนเท่าที่จำเป็นตามสภาพหน้างานเท่านั้น เช่น กรณีที่ต้องเลาะซิลิโคนของเดิมหรือขอบยางเสื่อม เป็นต้น)
จะเห็นว่า การเลือกฟิล์มกรองแสงติดกระจกบ้านให้ตรงตามความต้องการนั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่เจ้าของบ้านต้องใส่ใจเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว โดยนอกจากจะเลือกที่คุณภาพและผู้จัดจำหน่ายที่น่าเชื่อถือแล้ว ยังต้องดูคุณสมบัติต่างๆ (เช่น ค่าแสงส่องผ่าน ค่าสะท้อนแสง ค่ากันรังสี UV ค่าการลดความร้อนจากแสงแดด เป็นต้น) ให้เหมาะกับลักษณะการใช้งาน รวมถึงเลือกใช้ทีมช่างผู้ชำนาญเพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐานด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : ฟิล์มกรองแสงลามิน่า
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com