Pilaster House แต่งโฮมออฟฟิศสไตล์ลอฟต์ ในลุคโมเดิร์น
ไอเดียแต่งบ้านสไตล์ลอฟต์ กับโจทย์ท้าทายในการออกแบบโฮมออฟฟิศสถาปนิกบนที่ดินหน้าแคบ สู่การจัดสรรพื้นที่อันสวยงาม ลงตัว สำหรับการใช้สอยทั้งปัจจุบันและอนาคต ทั้งยังนำเอาแสงสว่างกับลมธรรมชาติเข้าสู่อาคารได้อย่างสร้างสรรค์
Pilaster House มาจากชื่อบริษัท “Pilaster Studio Design” คำว่า Pilaster หมายถึง เสาสไตล์ตะวันตกแบบหนึ่งซึ่งทั้งเป็นโครงสร้างและส่วนตกแต่งในตัว สื่อถึงพันธกิจของบริษัทในการออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมกับงานตกแต่งภายนอกและภายใน ณ ขณะที่คุณปิติผู้เป็นเจ้าของบริษัทกำลังหาบ้านมือสองทำโฮมออฟฟิศนั้น ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาซึ่งทางครอบครัวได้รับที่ดินเป็นมรดก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโฮมออฟฟิศ Pilaster House ขึ้น
คอนเซปต์การออกแบบและตกแต่ง
คุณปิติเริ่มเล่าถึงโจทย์หลักของการออกแบบ คือ รูปร่างที่ดินซึ่งมีลักษณะหน้าแคบทำให้การจัดสรรพื้นที่และช่องเปิดกลายเป็นเรื่องท้าทาย ในฐานะนักออกแบบจึงได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มพื้นที่อาคาร โดยทำผนังทึบบางช่วงให้มีระยะร่นใกล้แนวเขตที่ดินให้มากที่สุดตามกฎหมาย ส่วนออฟฟิศกับส่วนพักอาศัยทำเป็น 2 อาคารแยกกัน เพื่อให้เกิดพื้นที่ว่างตรงกลางพร้อมช่องรับแสงธรรมชาติ นอกจากนี้ยังใช้วิธีจัดสรรสเปซให้โปร่งโล่งด้วยฝ้าเพดานสูง และ ดับเบิ้ลสเปซเชื่อมชั้นบน-ชั้นล่าง
ในเรื่องสไตล์การออกแบบ มองจากภายนอกจะเห็นอาคารรูปทรงทันสมัยแบบโมเดิร์น ส่วนภายในตกแต่งแบบสไตล์ลอฟต์ และด้วยความที่เป็นทั้งผู้ออกแบบและผู้ใช้งานซึ่งเข้าใจรายละเอียดการใช้สอยเป็นอย่างดี เราจึงเห็นบางส่วนของสถาปัตยกรรมที่จงใจออกแบบเป็นช่องเคาน์เตอร์ ตู้เก็บของ Built-in ต่างๆ เตรียมไว้สำหรับติดตั้งบานตู้และชั้นวางของ
ออฟฟิศลุคโมเดิร์นแต่งสไตล์ลอฟต์
จากสวนหน้าบ้านจะเห็นบันไดปูนเปลือยขึ้นสู่พื้นที่ออฟฟิศด้านบน ประกอบด้วยห้องประชุม กับส่วนสตูดิโอซึ่งเป็นที่ทำงานของทีมออกแบบพร้อมชั้นลอยสำหรับนั่งเล่นพักผ่อน เน้นการตกแต่งด้วยลวดลายอิฐ ปูนเปลือย และเพดานสูงโปร่งตามสไตล์ลอฟต์ มีการใช้แผ่นฝ้า เอสซีจี สมาร์ทบอร์ด ติดตั้งเว้นร่องเป็นแพทเทิร์นลาดเอียงตามหลังคาเพิงแหงน โดยเลือกโชว์พื้นผิวด้านหลังของแผ่นสมาร์ทบอร์ดแบบไม่มีการทาสีทับหรือใช้น้ำยาเคลือบผิวใดๆ ในขณะที่เพดานบางส่วนของสตูดิโอถูกปล่อยเปิดเปลือยอย่างจงใจ เผยให้เห็นกระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ เอสซีจี ลอนคู่ พร้อมช่องโปร่งแสง
Kitchen & Dining Area พื้นที่ส่วนกลางเชื่อมโฮมออฟฟิศ
จากออฟฟิศเดินลงมาชั้นล่าง เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันระหว่างบ้านและออฟฟิศ พร้อมประตู 2 จุดที่สามารถเปิดเข้าสู่ตัวบ้านและออกสู่สวนหน้าบ้านได้ พื้นที่บริเวณนี้ประกอบด้วยเคาน์เตอร์ครัว ส่วนนั่งพักผ่อนทานอาหาร พร้อมห้องน้ำสำหรับทีมงานและรับแขก โดยทั้งหมดยังคงคอนเซ็ปต์ตกแต่งสไตล์ปูนเปลือย มีบ่อบัวให้ความรู้สึกสงบผ่อนคลายเป็นธรรมชาติ ทอดยาวสู่ช่องว่างที่เชื่อมต่อไปยังสวนด้านหน้าซึ่งสามารถรับลมและแสงจากธรรมชาติได้
แต่งบ้านสไตล์ลอฟต์ เป็นพื้นที่อบอุ่นของครอบครัว
จากประตูทางเข้าบ้านจะพบช่องหน้าต่างติดกับพื้นที่ว่างระหว่างตัวบ้านกับออฟฟิศ เป็นอีกช่องทางรับลมและแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคาร มุมโปรดของครอบครัวคือชุดโซฟาในพื้นที่นั่งเล่นชั้นล่างพร้อมผนังลายอิฐ โดยมีตู้วางทีวีพร้อมชั้น Builtd-in โครงเหล็กสีดำซึ่งจัดเรียงหนังสือและของประดับไว้อย่างดี บรรยากาศภาพรวมดูสว่างไสว มองเห็นสวนภายนอกผ่านประตูกระจกบานใหญ่ โดยสวนนี้เป็นทั้งมุมพักผ่อน และทัศนียภาพแห่งธรรมชาติอันแสนผ่อนคลายสำหรับพื้นที่นั่งเล่นกับห้องนอนใหญ่ชั้นล่าง (Master Bedroom) หากเปิดประตูหน้าต่างทั้งหมดบริเวณนี้ก็จะสามารถรับลมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
จากพื้นที่นั่งเล่น เมื่อหันกลับไปทางบันไดจะเจอผนังประดับกรอบรูป ตกแต่งด้วย เสือ เดคอร์ คัลเลอร์ สกิมโค้ท ฉาบแต่งผิวบางสีเทา ให้อารมณ์ปูนเปลือยซึ่งเน้นความเรียบเนียนเป็นพิเศษ บริเวณนี้เป็นพื้นที่วางชุดโต๊ะสำหรับนั่งเล่นและทำงาน รวมถึงบานตู้ไม้ปิดชั้นเก็บของ Built-in ที่ดูเรียบร้อยสวยงาม
บริเวณโถงบันไดดูสว่างไสวด้วยช่องแสงบนเพดานที่ต่อเนื่องทั้งโถงบันไดและพื้นที่ชั้น 2 เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะพบกับโถงทางเดินเชื่อมสู่ห้องเปล่า 2 ห้อง ซึ่งเตรียมไว้เป็นห้องนอนรองรับแขกผู้มาเยือน และห้องนอนส่วนตัวสำหรับลูกน้อยเมื่อถึงวัยเติบโตในอนาคต แม้การตกแต่งชั้นนี้จะเน้นผนังสีขาวและพื้นลายไม้ แต่ก็ยังคงเห็นกลิ่นอายของคอนเซ็ปต์ที่ใช้กับส่วนอื่นๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำแต่งด้วยปูนเปลือยสไตล์ลอฟต์พร้อมเพดานโปร่งแสง รวมถึงช่องหน้าต่างข้างดับเบิ้ลสเปซที่เชื่อมสู่ด้านล่าง
จะเห็นว่า Pilaster House ไม่ได้โดดเด่นเพียงแค่รูปลักษณ์สไตล์โมเดิร์นลอฟต์เท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดการสร้างสรรค์อาคารบนที่ดินหน้าแคบให้ดูโปร่งโล่ง รับลมและแสงธรรมชาติได้เต็มที่ ทั้งยังมีพื้นที่ใช้สอยที่ลงตัว นอกจากนี้คุณปิติได้เล่าถึงอีกส่วนของการออกแบบไว้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ พื้นที่เหนือฝ้าเพดานชั้นสองจะมีแนวคานเตรียมไว้สำหรับต่อเติมชั้น 3 ในอนาคต (หากต้องการ) นับเป็นแนวคิดการออกแบบที่มองการณ์ไกลและใช้พื้นที่แนวตั้งได้คุ้มค่าอย่างแท้จริง
ภาพ: คุณปิติ เพชรดำ เจ้าของบ้าน/ผู้ออกแบบ Pilaster House
ขอบคุณสถานที่: Pilaster House
ออกแบบโดย: Pilaster Studio Design
Tel: (+66)0909735863 , Line id: pilasterstudio
ขอขอบคุณที่มาขอบบทความ
www.scghomecom