12 เรื่องน่ารู้ก่อนทำห้องน้ำ
12 เรื่องน่ารู้ก่อนทำห้องน้ำรวบรวมเรื่องน่ารู้ น่าสนใจ เกี่ยวกับการทำห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำบ้านใหม่หรืองานรีโนเวต เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจก่อนเลือกใช้หรือดำเนินการ
การทำห้องน้ำมีรายละเอียดบางอย่างที่บางครั้งเราอาจมองข้ามไป ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อห้องน้ำแล้วเสร็จให้ใช้งานกลับพบปัญหาที่คาดไม่ถึง จนต้องตามแก้ไขกันให้ยุ่งยาก แต่หากเรารู้ไว้ก่อนแล้วตัดสินใจให้ดีตั้งแต่แรกจะได้ไม่ต้องมาพูดทีหลังว่า รู้งี้… วันนี้ SCGHOME.COM จึงได้รวมรวม “12 เรื่องน่ารู้ก่อนทำห้องน้ำ” มาฝากกัน
1. หันด้านประตูบานเกล็ดตามการใช้งาน
ประตูบานเกล็ด เป็นระแนงซ้อนกันโดยเว้นช่องไว้เล็กน้อย มีจุดประสงค์เพื่อให้ลมผ่านได้ ช่วยในการระบายอากาศและความชื้นภายในห้องน้ำ ซึ่งต้องวางหรือหันบานเกล็ดให้ถูกทาง โดยเกล็ดด้านนอกห้องน้ำตามปกติต้องเห็นคว่ำลงมา หากมองในระดับสายตาจะไม่สามารถมองเห็นภายในห้องน้ำได้ ยกเว้นต้องก้มมองย้อนเกล็ดขึ้นไป แต่หากประตูติดกับส่วนอาบน้ำ ควรหันด้านเกล็ดลงฝั่งในห้องน้ำเพื่อป้องกันน้ำกระเด็นออก โดยให้มีบานเกล็ดแค่ส่วนล่างเท่านั้น
2. ใช้ลูกบิดประตูสำหรับห้องน้ำที่ปลดล็อกจากด้านนอกได้โดยไม่ใช้กุญแจ
ประตูบ้านหรือประตูห้องมักมีตัวล็อกที่ต้องใช้กุญแจในการเปิดจากภายนอกเพื่อความปลอดภัย แต่สำหรับประตูห้องน้ำแล้วถึงแม้มีตัวล็อกเพื่อความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน แต่ก็มีความจำเป็นที่ตัวล็อกต้องเปิดได้จากภายนอกด้วย เพื่อให้สามารถเปิดประตูเข้าไปช่วยเหลือคนในห้องน้ำได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเลือกใช้ลูกบิดประตูหรือตัวล็อกสำหรับห้องน้ำที่ปลดล็อกจากด้านนอกได้โดยไม่ใช้กุญแจ เพียงใช้เหรียญบาทหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในการหมุนปลดล็อกเท่านั้น
3. วงกบประตูห้องน้ำควรเลือกใช้ขนาด 2”x5”
โดยปกติเราจะใช้วงกบประตูขนาด 2”x4” สำหรับห้องทั่วไปที่มีความหนาผนังประมาณ 10 ซม. แต่ผนังห้องน้ำที่มักตกแต่งด้วยกระเบื้องเซรามิก จะมีความหนาผนังรวมปูกระเบื้องเรียบร้อยแล้วมากกว่า 10 ซม. ซึ่งหากเลือกใช้วงกบประตูขนาด 2”x4” ตามปกติ เราจะมองเห็นขอบกระเบื้องที่หนาขึ้นโดยรอบวงกบ ส่วนใหญ่จึงมักติดตั้งคิ้วกระเบื้อง (PVC, อะลูมิเนียม) โดยรอบวงกบเพื่อช่วยปิด/ตกแต่งขอบกระเบื้องให้เรียบร้อยขึ้น แต่หากเลือกใช้วงกบขนาด 2”x5” ความหนาของกระเบื้องที่ปูบนผนังจะไม่เกินแนววงกบ จึงไม่ต้องติดตั้งคิ้วปิดขอบกระเบื้องเพิ่มเติม ทำให้งานกระเบื้องผนังดูเรียบร้อยสวยงามมากยิ่งขึ้น
4. เลือกกระเบื้องปูพื้นห้องน้ำที่มีค่ากันลื่นไม่น้อยกว่า R10
ค่า R หรือ Slip Resistance Rating คือค่าการกันลื่นที่ต้องดูหรือสอบถามพนักงานขายเมื่อเลือกซื้อกระเบื้อง โดยเฉพาะกระเบื้องในพื้นที่เปียกอย่างห้องน้ำ พื้นระเบียงนอกบ้าน ลานซักล้าง รวมถึงพื้นที่มีความลาดเอียง ซึ่งการเลือกกระเบื้องปูพื้นห้องน้ำควรมีค่าการกันลื่นไม่น้อยกว่า R10 เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นหากพื้นเปียกน้ำ ทั้งนี้ ถึงแม้กระเบื้องจะมีค่าการกันลื่นสูง แต่คราบสบู่หรือคราบไขมันที่เกาะบนพื้นผิวกระเบื้องก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้พื้นลื่นขึ้นได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นขัดล้างพื้นกระเบื้องให้สะอาดเป็นประจำด้วยเช่นกัน
การเลือกกระเบื้องปูพื้นต้องพิจารณาค่า R ตามความเหมาะสม ดังนี้
- ค่า R9 การกันลื่นต่ำ เหมาะสำหรับบริเวณพื้นแห้ง พื้นทั่วไป เช่น ห้องโถง ห้องอาหาร ห้องรับแขก
- ค่า R10 การกันลื่นปานกลาง เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องเปียกน้ำ เช่น ห้องน้ำ โรงรถ
- ค่า R11 การกันลื่นสูง เหมาะสำหรับพื้นที่ภายนอก เช่น ห้องน้ำผู้สูงอายุ ที่จอดรถนอกอาคาร รอบสระว่ายน้ำ
- ค่า R12 การกันลื่นสูงมาก เหมาะสำหรับพื้นที่ภายนอกที่มีความลาดชัน เช่น รอบสระว่ายน้ำที่มีพื้นลาดเอียง ที่จอดรถบนเนินเอียง
5. หมั่นยาแนวกระเบื้องห้องน้ำตามอายุการใช้งาน
กาวยาแนวร่องกระเบื้องมีหน้าทื่เชื่อมประสานกระเบื้องแต่ละแผ่น ปิดช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้อง ซึ่งนอกจากเพื่อความเรียบร้อยสวยงามแล้ว หน้าที่สำคัญคือเพื่อไม่ให้น้ำซึมผ่านและอาจขังสะสมใต้แผ่นกระเบื้องได้ เพราะหากมีน้ำขังสะสมใต้แผ่นกระเบื้องเป็นเวลานาน สำหรับผนังอาจทำให้เกิดคราบขาวที่กระเบื้อง (จากปฏิกิริยาระหว่างปูนกับน้ำ) ส่วนที่พื้นอาจทำให้น้ำแทรกผ่านพื้นห้องน้ำจนเกิดปัญหาน้ำรั่วลงสู่ห้องชั้นล่างในที่สุด (โดยเฉพาะกรณีบ้านที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป) อายุการใช้งานกาวยาแนวโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 8-10 ปี และอาจน้อยกว่านี้หากมีการล้างพื้นห้องน้ำด้วยสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรงเป็นประจำ ดังนั้น จึงควรสังเกตร่องยาแนวว่ามีการสึกกร่อน หลุดล่อนหรือไม่ และยาแนวร่องกระเบื้องใหม่หากเสื่อมสภาพโดยทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง
วิธีการซ่อมแซมยาแนวร่องกระเบื้องที่หลุดล่อน
- ใช้เหล็กขูดร่องยาแนวหรือเครื่องมือขูดร่องยาแนว ขูดยาแนวกระเบื้องที่เสื่อมสภาพออก หากไม่มีสามารถใช้คัตเตอร์หรือตะปูแทนได้ แล้วเช็ดทำความสะอาด
- ผสมน้ำสะอาดกับยาแนว ในอัตราส่วนตามแต่ละยี่ห้อกำหนด แล้วคนส่วนผสมด้วยไม้พายหรือหัวปั่นสว่านรอบต่ำจนเป็นเนื้อเดียวกัน ทิ้งไว้สักครู่ให้สารเคมีทำปฏิกิริยากับน้ำ
- ใช้เกรียงปาดยาแนวตามร่องกระเบื้อง โดยปาดเฉียง 60 องศากับร่องกระเบื้อง เพื่อให้ยาแนวอุดเต็มร่อง และไม่ดึงยาแนวที่ทาไปแล้วออกจากร่อง
- เมื่อทำเสร็จแล้ว ปล่อยให้ยาแนวเซตตัวประมาณ 2-4 ชั่วโมง จึงใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำบิดหมาดเช็ดคราบยาแนวที่เลอะกระเบื้องออก แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาด ปล่อยให้ยาแนวแห้งสนิทอย่างน้อย 24 ชั่วโมงจึงเข้าใช้พื้นที่
6. เครื่องทำน้ำอุ่น หรือ เครื่องทำน้ำร้อน? เรื่องที่ต้องตัดสินใจตั้งแต่แรก
เนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นจะเดินท่อน้ำประปาแบบปกติและใช้ก๊อกน้ำเดี่ยวทั่วไป ส่วนเครื่องทำน้ำร้อนต้องเดินท่อสำหรับระบบน้ำร้อนโดยเฉพาะและใช้ควบคู่กับก๊อกผสม จึงควรตัดสินใจตั้งแต่ต้น เพื่อเตรียมระบบท่อประปาให้เหมาะสม ทั้งนี้ เครื่องทำน้ำร้อนเครื่องเดียวสามารถใช้กับจุดจ่ายน้ำได้มากกว่า 1 จุด ไม่ว่าจะเป็นฝักบัว อ่างล้างมือ หรืออ่างอาบน้ำ ในขณะที่เครื่องทำน้ำอุ่นมักจะใช้กับฝักบัวอาบน้ำเป็นหลัก สิ่งสำคัญไม่ว่าจะเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นหรือเครื่องทำน้ำร้อน คือต้องติดตั้งสายดินเพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดไฟฟ้ารั่ว เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน
7. เลือกใช้ฝ้าเพดานกันชื้นและมีช่องเซอร์วิสในห้องน้ำ
ในห้องน้ำมีความชื้นสูง หากใช้วัสดุฝ้าเพดานที่ไม่ทนชื้น อาจส่งผลต่อการเกิดเชื้อรา หรือแผ่นวัสดุบวมพองได้ และควรมีช่องเซอร์วิสบนฝ้าเพดานที่เปิดได้เพื่อดูแลหรือซ่อมแซมงานระบบต่าง ๆ
8. ทำระบบกันกลิ่นไหลย้อนจากท่อระบายน้ำในห้องน้ำ
โดยทั่วไปท่อน้ำทิ้งใต้อ่างล้างหน้าจะมี P-Trap หรือ Bottle Trap ที่มีน้ำกักอยู่ในท่อโค้งหรือในกระปุกช่วยป้องกันกลิ่นย้อนกลับเข้ามาในห้องน้ำ ในขณะที่สุขภัณฑ์จะมีคอห่านในตัวที่ช่วยกันกลิ่นอยู่แล้ว ซึ่งตามปกติจะไม่เดินระบบท่อกันกลิ่นเพิ่มเติมเพราะจะทำให้อุดตันได้ แต่ปัญหากลิ่นในห้องน้ำบ่อยครั้งพบว่ามาจากท่อน้ำทิ้งที่อ่างอาบน้ำ และท่อน้ำทิ้งที่พื้นทั้งในส่วนอาบน้ำ Shower รวมถึงพื้นที่ส่วนแห้ง ซึ่งมักใช้เป็นท่อตรงจึงทำให้กลิ่นย้อนกลับเข้ามาตำแหน่งนี้ได้ ดังนั้น สำหรับห้องน้ำชั้นล่างควรติดตั้งท่อน้ำทิ้งที่มีตะแกรงกันกลิ่นโดยให้มีน้ำหล่อในถ้วยตลอด ส่วนใต้พื้นห้องน้ำชั้นบนควรติดตั้งท่อ P-Trap หรือ U-Trap เพื่อดักกลิ่น ซึ่งมีข้อดีที่ตรงส่วนโค้งของท่อ P-Trap หรือ U-Trap จะมีฝาเปิดระบายสิ่งอุดตันออกได้ด้วย
9. พื้นห้องน้ำลดระดับ หรือ ไม่ลดระดับ ?
พื้นห้องน้ำจะลดระดับหรือไม่ลดระดับ เป็นเรื่องต้องที่ตัดสินใจตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เพราะมีผลต่อการก่อสร้าง และการวางตำแหน่งท่อระบายน้ำ โดยปกติพื้นห้องน้ำจะลดระดับลงมาจากระดับพื้นในบ้านทั่วไป 5-10 ซม. โดยประมาณ เพื่อไม่ให้น้ำล้นไหลออกไปเปียกเลอะห้องที่ติดกัน ซึ่งสามารถขัดล้างพื้นห้องน้ำด้วยน้ำ+น้ำยาได้ทั้งห้อง แต่ในปัจจุบันนิยมแยกพื้นที่ห้องน้ำเป็นส่วนเปียกกับส่วนแห้ง คือ พื้นที่อาบน้ำกับพื้นที่โถส้วมและอ่างล้างหน้า โดยในพื้นที่ส่วนแห้งจะทำความสะอาดด้วยการกวาด/ดูดฝุ่น เช็ดถู และอาจจะขัดล้างด้วยน้ำ+น้ำยาในพื้นที่ส่วนเปียก บางกรณีจึงลดระดับพื้นเฉพาะส่วนอาบน้ำเพื่อป้องกันน้ำเปียกเลอะส่วนแห้ง ซึ่งก็สามารถทำได้เช่นกัน
หากไม่ลดระดับพื้นห้องน้ำเลยทั้งห้อง ซึ่งจะเหมาะกับการใช้งานของผู้สูงอายุและผู้ใช้รถเข็น เพราะช่วยลดอุบัติเหตุจากการก้าวขึ้นลงพื้นที่ต่างระดับกัน จะต้องติดตั้งรางระบายน้ำยาวที่พื้น 2 ตำแหน่งคือ ระหว่างพื้นห้องน้ำกับห้องที่ติดกัน และระหว่างส่วนเปียกกับส่วนแห้ง โดยปรับระดับพื้นให้ระบายน้ำได้อย่างดี
10. เลือกอ่างล้างหน้าที่ชอบและจับคู่กับก๊อกน้ำให้เหมาะสม
อ่างล้างหน้ามีหลายรูปแบบซึ่งมีการติดตั้งในลักษณะพื้นที่ที่ต่างกัน จึงควรตัดสินใจเลือกรูปแบบที่ชอบและเหมาะกับการใช้งาน
- อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนัง เหมาะสำหรับห้องน้ำขนาดเล็ก มีพื้นที่จำกัด หรือเป็นห้องน้ำแขก ติดตั้งง่าย ดูแลรักษา และซ่อมบำรุงง่าย
- อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนัง มีขาตั้งพื้น เหมาะสำหรับห้องน้ำที่มีพื้นที่จำกัดเช่นกัน โดยจะดูสวยเรียบร้อยมากกว่ากว่าเพราะมีขาตั้งบังท่อน้ำไว้ (ขาตั้งไม่ได้ช่วยรับน้ำหนักอ่างล้างหน้า) แต่อาจจะซ่อมแซมยากกว่าหากเกิดปัญหากับท่อน้ำ
- อ่างล้างหน้าแบบวางบนเคาน์เตอร์ เน้นโชว์ความสวยงามของอ่าง เหมาะสำหรับห้องน้ำขนาดใหญ่ ห้องน้ำในโรงแรม หรือร้านอาหาร ดูแลรักษาง่าย ราคาอาจจะสูงกว่าอ่างล้างหน้ารูปแบบอื่น และยังต้องทำเคาน์เตอร์รองรับ รวมถึงติดตั้งวัสดุท็อปเคาน์เตอร์ที่ต้องแข็งแรง ทนน้ำ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ก็ได้ใช้ประโยชน์เป็นที่วางของ หรือเครื่องสำอางก์ต่าง ๆ
- อ่างล้างหน้าแบบฝังเคาน์เตอร์ เหมาะสำหรับบ้าน คอนโด ต้องทำเคาน์เตอร์รองรับเช่นกัน โดยจะเจาะช่องวัสดุท็อปเคาน์เตอร์ขนาดพอดีกับอ่างและติดตั้งทับบนอ่างล้างหน้า ผิวเคาน์เตอร์ที่เรียบต่อเนื่องกันจึงทำความสะอาดง่าย แต่ต้องระวังในการใช้งานอ่างล้างหน้า เพราะหากเสียหายหรือแตกร้าว จะรื้อเปลี่ยนได้ยาก
ก๊อกน้ำก็มีหลายรูปแบบเช่นกัน ทั้งก๊อกทรงเตี้ย ก๊อกทรงสูง และก๊อกฝังผนัง ซึ่งควรเลือกก็อกน้ำให้เหมาะกับรูปแบบอ่างล้างหน้า เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว ยังเกี่ยวกับระยะความสูงของก๊อกน้ำกับอ่างมีผลทำให้น้ำกระเด็นเปรอะเปื้อน หรือความยาวของหัวก็อกกับระยะขอบอ่างมีผลตอนล้างมือแล้วน้ำนองที่ขอบอ่าง
11. ต้องมีช่องระบายอากาศหรือพัดลมดูดอากาศในห้องน้ำ
ตามกฎหมายควบคุมอาคารมีการกำหนดไว้ว่าห้องน้ำต้องมีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศได้เพียงพอ เช่น ห้องน้ำที่มีพื้นที่ 12 ตร.ม. ต้องมีช่องระบายอากาศขนาดมากกว่า 1.2 ตร.ม. ทั้งนี้ เพื่อช่วยเรื่องการระบายอากาศ ระบายความชื้น ช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นในห้องน้ำได้ง่ายกว่าพื้นที่ส่วนอื่น
12. กระงกเงาแบบบานเปลือยในห้องน้ำต้องติดตั้งสูงจากเคาน์เตอร์
กระจกบานเปลือยไม่มีบานกรอบ ควรติดตั้งสูงจากระดับอ่างล้างหน้าหรือเคาน์เตอร์อย่างน้อย 30 ซม. เพราะหากติดตั้งชิดหรือใกล้ขอบเคาน์เตอร์มากเกินไป อาจจะทำให้น้ำที่กระเด็นไปโดนซึมผ่านหรือมีความชื้นสะสมที่ขอบกระจก ซึ่งจะทำให้ปรอทที่กระจกลอกหรือเกิดฝ้าได้ นอกจากนี้ ระดับความสูงของกระจกเงาให้พิจารณาจากการใช้งานด้วย เช่น หากเป็นก็อกทรงสูง หรือเป็นก๊อกฝังผนัง ก็ควรติดตั้งกระจกเงาในระดับที่สูงขึ้น
12 เรื่องเกี่ยวกับห้องน้ำที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้และตัดสินใจ เพราะห้องน้ำมีองค์ประกอบหลายส่วน ตั้งแต่โครงสร้าง งานสถาปัตย์ฯ งานตกแต่งต่าง ๆ ตลอดจนงานระบบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย แล้วเรายังต้องใช้ห้องน้ำกันเป็นประจำ หากมีปัญหาเกิดขึ้น การซ่อมแซมแก้ไขจะเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อย
12 เรื่องน่ารู้ก่อนทำห้องน้ำรวบรวมเรื่องน่ารู้ น่าสนใจ เกี่ยวกับการทำห้องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำบ้านใหม่หรืองานรีโนเวต เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจก่อนเลือกใช้หรือดำเนินการ