3 คำถามชวนตอบ ก่อนต่อเติมโรงรถ
คลายข้อสงสัยเรื่องการต่อเติมโรงรถ ทั้งรูปแบบพื้นและเสาเข็ม รูปแบบหลังคาโรงรถและเสารับหลังคา รวมถึงวัสดุมุงหลังคาโรงรถ(ต่อเติม)
พื้นที่ด้านหน้าของบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮมทั่วไป มักมีขนาดหน้ากว้างไม่เกิน 6 เมตร หลายบ้านจึงมักใช้พื้นที่ส่วนนี้ในการต่อเติมโรงรถ (สำหรับจอดรถได้ประมาณ 2 คัน) ในการต่อเติมโรงรถอย่างน้อยต้องมีพื้นกับหลังคาเป็นส่วนประกอบหลัก โดยจะได้โรงรถที่แข็งแรง และสวยงามถูกใจหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกโครงสร้างและวัสดุที่เหมาะสม จึงเกิดเป็นคำถามยอดฮิตอย่าง ทำพื้นโรงรถต้องลงเข็มไหม? ทำหลังคาโรงรถต้องมีเสารับหรือไม่? ใช้วัสดุอะไรมุงหลังคาโรงรถดี? และวันนี้ SCG HOME จะมาไขข้อสงสัยเหล่านี้กัน
1) ต่อเติมโรงรถ ทำพื้นแบบไหนดี ต้องมีเสาเข็มหรือไม่
สำหรับบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮมทั่วไป ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น พื้นหน้าบ้านมักจะเป็นพื้นหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กแบบ Slab on Ground (ซึ่งแยกตัวกันกับโครงสร้างบ้าน) อยู่แล้ว การต่อเติมโรงรถที่ว่านี้จึงเป็นการต่อหลังคาเพิ่มเติมเพื่อช่วยกันแดดฝนให้รถ ดังนั้น ปัจจัยที่จะพิจารณาว่าการทำหลังคาโรงรถเพิ่มนี้ต้องลงเสาเข็มหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับรูปแบบหลังคา และสภาพพื้นคอนกรีตของเดิม ดังนี้
• สภาพพื้นคอนกรีตเดิม ถ้าพื้นคอนกรีตยังคงแข็งแรงดี วิธีที่ง่ายที่สุดคือ เลือกใช้วัสดุหลังคาแบบเบา แต่หากเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาที่มีน้ำหนักมาก จำเป็นต้องลงเสาเข็มรองรับ อาจพิจารณาลงเสาเข็มบนพื้นดินที่ว่างโดยรอบ หรือสกัดพื้นคอนกรีตเดิมเพื่อลงเสาเข็ม (ใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงรถที่ต่อเติมและสภาพหน้างาน ในทางกลับกัน หากพื้นคอนกรีตมีสภาพทรุดตัว แตกร้าว แนะนำให้พิจารณารื้อออกทำพื้นใหม่ โดยจะทำพื้นแบบ Slab on Ground หรือจะลงเสาเข็มด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพดินและรูปแบบหลังคาที่จะต่อเติม ซึ่งควรขอคำแนะนำจากวิศวกรก่อนตัดสินใจ
2) ต่อเติมโรงรถ ต้องมีเสารับหลังคาไหม
ในเรื่องของเสารับหลังคา กรณีต่อเติมหลังคาโรงรถที่ยื่นจากตัวบ้านไม่เกิน 2 เมตร หากวิศวกรคำนวณแล้วพบว่าสามารถยึดกับโครงสร้างบ้านอย่างคานหรือเสาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีเสารับเพิ่ม เพียงแค่ทำหลังคากันสาดด้วยวัสดุมุงน้ำหนักเบา โดยอาจทำค้ำยันใต้หลังคา หรือแท่งเหล็กเหล็กรับแรงดึงยึดจากด้านบน (Tension Rod) เป็นตัวช่วยรับน้ำหนักแทน
ส่วนหลังคาโรงรถที่ต่อเติมยื่นยาวเกิน 2 เมตร หรือใช้วัสดุมุงหลังคาที่มีน้ำหนักมาก ควรทำเสารองรับอีกชุดอย่างน้อย 4 ต้น เพื่อแยกโครงสร้างออกมากต่างหากจากตัวบ้าน โดยหลีกเลี่ยงการฝากน้ำหนักการแบกรับส่วนต่อเติมไว้กับตัวบ้านเดิม เพราะการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันจะทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย แต่หากจำเป็นต้องฝากโครงสร้างไว้กับตัวบ้าน แนะนำให้ทำจุดเชื่อมต่อแบบขยับได้เพื่อรองรับการทรุดตัวของโรงรถที่จะต่อเติม
3) ต่อเติมโรงรถ ใช้วัสดุอะไรมุงหลังคาดี
ส่วนเรื่องของการเลือกวัสดุมุง กรณีต่อเติมหลังคาโรงรถให้ดูคล้ายกับตัวบ้าน โดยทั่วไปจะเลือกวัสดุมุงตามหลังคาบ้านเป็นหลัก แต่หากมุงด้วยวัสดุน้ำหนักเบา จะมีวัสดุทั้งแบบทึบและแบบโปร่งแสงให้เลือกหลากหลาย
• วัสดุต่อเติมหลังคาโรงรถแบบโปร่งแสง จะมีทั้งวัสดุแผ่นเรียบอย่าง อะคริลิก (มีรุ่นคุณภาพสูงเพิ่มความแข็งแกร่งและรุ่นกันความร้อนให้เลือก) โพลีคาร์บอเนต (แบบแผ่นตัน แบบแผ่นลูกฟูก แบบผิวส้ม) วัสดุแผ่นลอนอย่าง UPVC แบบสีขาวขุ่น (แสงส่องผ่านเพียง 40 %) รวมถึงไฟเบอร์กลาสซึ่งมีให้เลือกทั้งแผ่นเรียบและแผ่น
• วัสดุสำหรับต่อเติมหลังคาโรงรถแบบทึบแสง ที่นิยมกันมากจะมี เมทัลชีท เป็นแผ่นหลังคาเหล็กรีดลอน (บางรุ่นมีติดตั้งฉนวนในตัว) กับอีกชนิดซึ่งมีรูปลอนใกล้เคียงกัน คือ UPVC อีกวัสดุที่น่าสนใจคือ ไวนิล มีลักษณะเป็นชิ้นยาว หน้ากว้าง 12.5 ซม. ยาว 4-6 เมตร ตัวแผ่นถูกออกแบบให้ล็อกต่อกันได้เลย
ขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com