8 เช็กลิสต์ก่อนเนรมิต Walk-in Closet
8 เช็กลิสต์ก่อนเนรมิต Walk-in Closet คือห้องแต่งตัว หรือถ้าแปลตรงตัวก็คือตู้เสื้อผ้าที่เดินเข้าไปได้ ถือเป็นพื้นที่ในฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะบรรดาแฟชันนิสต้า แต่ก่อนจะวาด Walk-in Closet ในฝันให้เป็นจริง อย่าลืมเช็คลิสต์ 8 ข้อต่อไปนี้ก่อน
1. ตู้เสื้อผ้า เมื่อเอ่ยถึง Walk-in Closet สิ่งสำคัญอันดับแรกย่อมหนีไม่พ้นตู้เสื้อผ้า โดยทั่วไปแล้วนิยมใช้เฟอร์นิเจอร์บิลต์อิน เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ปัจจัยต่าง ๆ ที่ควรคำนึงถึงมีดังนี้
– การวางผังตู้ ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่เป็นหลัก หากเป็นที่แคบและยาวจำเป็นต้องวางผังแบบตัว I หรือ L แต่ถ้าพื้นที่มีความกว้างความยาวไม่ต่างกันนัก สามารถเลือกใช้แบบตัว I, L หรือ U ก็ได้
– รูปลักษณ์และหน้าบานตู้ ถือเป็นส่วนแรกที่มองเห็น ต่างคนก็อาจมีความชอบต่างกัน ดิสเพลย์บางแห่งอาจโชว์ไอเดียการตกแต่งภายใน Walk-in Closet แบบไม่มีหน้าบานเลย แต่ในแง่ของการใช้งานจริงอาจจะไม่เหมือนอย่างที่จินตนาการไว้ ด้วยปัญหาเรื่องฝุ่นละอองและความไม่เรียบร้อย หากต้องการลักษณะตู้ที่โชว์เสื้อผ้าภายใน อาจทำตู้ไร้บานเฉพาะส่วนที่หยิบใช้บ่อย หรือเลือกใช้เป็นหน้าบานโปร่งแทน
อย่างไรก็ดี หากใครพะวงเรื่องฝุ่นและความไม่เป็นระเบียบ ก็สามารถเลือกใช้แบบบานทึบ เพราะสามารถควบคุมความสวยงามในระยะยาวได้ง่ายกว่า หรืออาจแบ่งเป็นส่วนบานโปร่งกับส่วนบานทึบผสมกันก็ได้
– ความลึกภายในตู้ ยึดจากส่วนราวแขวน ความลึกที่ใช้งานได้สะดวกสบายคือ 60 ซม. สามารถรองรับชุดสูทผู้ชายขนาดใหญ่ได้โดยไม่เบียดบานตู้ แต่ถ้าเป็นตู้ของคุณผู้หญิงโดยเฉพาะก็สามารถลดระยะลงมาได้อีกเล็กน้อย แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 51 ซม.
– การแบ่งพื้นที่สำหรับเสื้อผ้าแต่ละประเภท ทั้งชุดยาว เสื้อ กางเกงกระโปรง ชุดชั้นใน และอื่น ๆ โดยแบ่งเป็นส่วนราวแขวนเดี่ยวสำหรับชุดยาว ราวแขวนคู่สองชั้นสำหรับเสื้อและกางเกงกระโปรง และส่วนชั้นวางหรือลิ้นชักเพื่อจัดเก็บชุดชั้นในและอื่น ๆ โดยคำนึงถึงไลฟ์สไตล์เป็นหลัก
– ตู้เก็บของที่ใช้งานไม่บ่อย เช่นผ้านวม กระเป๋าเดินทาง เสื้อกันหนาวตัวใหญ่ เป็นต้น สามารถใช้ตู้ชั้นบนที่อยู่เหนือราวแขวนขึ้นไป หรือจัดเก็บไว้ในพื้นที่ส่วนมุมตู้ในกรณีที่ผังตู้เป็นตัว L หรือ U
– ระบบไฟภายในตู้ นอกจากจะช่วยให้หาของต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยเสริมอรรถรสในแง่ของความสวยงาม มีทั้งแบบไฟอัตโนมัติและเปิดปิดสวิตซ์เองได้ การเดินระบบไฟไว้ในตู้ไม่ใช่เรื่องยาก และยังเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของงานบิลต์อิน ควรเตรียมการระหว่างขั้นตอนออกแบบภายใน
2. ตู้เก็บเครื่องประดับ / กระเป๋า / รองเท้า ฯลฯ ส่วนนี้อาจผสมรวมหรือต่อเนื่องไปกับตู้เสื้อผ้า ถ้ามีพื้นที่ห้องเยอะอาจเพิ่มตู้ไอส์แลนด์ตรงกลางได้ เครื่องประดับที่ชิ้นเล็กหน่อยจะนิยมเก็บในลิ้นชัก เช่นต่างหู สร้อยคอ เนคไท นาฬิกา เป็นต้น ส่วนกระเป๋าควรเก็บในตู้ที่มีหน้าบานเพื่อกันฝุ่น หากต้องการโชว์ของอาจดีไซน์หน้าบานเป็นกระจกใส บางท่านอาจมีตู้รองเท้าไว้ในห้องแต่งตัวด้วย หรืออาจแยกไว้ห้องอื่น ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ความลึกตู้รองเท้าไม่ควรน้อยกว่า 30 ซม.
3. โต๊ะเครื่องแป้ง ส่วนนี้บางท่านอาจไว้ในห้องแต่งตัวหรือห้องนอนก็ได้ ปัจจัยที่ต้องคำนึงคือแสงสว่าง หากมีแสงธรรมชาติจะดีที่สุดเพราะส่งผลต่อการควบคุมเฉดสีของเครื่องสำอางที่ใช้ แต่ถ้าแสงไม่เพียงพอหรือเป็นการแต่งหน้าในตอนกลางคืน ก็จำต้องมีไฟหน้าโต๊ะเครื่องแป้งช่วย โดยแสงจะต้องส่องมาจากด้านหน้า ไม่ควรมาจากเหนือศีรษะเพราะจะทำให้หน้าเกิดเงาดำ หากเป็นการแต่งหน้าในชีวิตประจำวันควรเลือกใช้ไฟ Day light เพราะใกล้เคียงแสงธรรมชาติที่สุด แต่ถ้าคุณผู้หญิงท่านใดจำเป็นต้องออกงานกลางคืนบ่อย อาจเลือกเป็นไฟ Cool Light หรือ Warm White แทน
4. กระจกเงา นอกเหนือจากกระจกเงาที่โต๊ะเครื่องแป้งแล้ว ยังควรมีกระจกเงาที่สามารถส่องได้เต็มตัวด้วย บางท่านอาจทำหน้าบานตู้เป็นกระจกบานใหญ่ไปเลยในตัว จะช่วยลวงตาให้ห้องดูกว้างขวางขึ้น
5. เก้าอี้หรือม้านั่งอเนกประสงค์ เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีประโยชน์ใช้สอยสำคัญ ไว้สำหรับวางพาดเสื้อผ้าที่หยิบออกมาจากตู้ และใช้เป็นที่นั่งระหว่างแต่งตัว เช่นใส่ถุงเท้า เป็นต้น
6. ราวหรือตะขอแขวน สำหรับแขน ผ้าเช็ดตัว หรือเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ต้องการแขวนพักไว้ชั่วคราว
7. ตะกร้าผ้าและอุปกรณ์รีดผ้า บางบ้านอาจสะดวกรีดผ้าในห้องแต่งตัว จึงควรเตรียมตะกร้าผ้าและตู้จัดเก็บอุปกรณ์ หากไม่ได้แยกออกมาเป็นตู้เก็บเฉพาะ ก็ต้องจัดสรรพื้นที่ในตู้เสื้อผ้าเผื่อไว้
8. แสงธรรมชาติและการระบายอากาศ ดังที่กล่าวถึงมาแล้วในหมวดโต๊ะเครื่องแป้ง นอกจากแสงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการแต่งหน้าแล้ว ภายในห้องแต่งตัวก็ควรมีหน้าต่างเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันปัญหาความอับชื้น เพราะพื้นที่ส่วนนี้มักเชื่อมต่อกับห้องน้ำ
9. เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากบ้านเราเป็นประเทศเมืองร้อน อาจมีเหงื่อออกระหว่างการแต่งตัวทำให้ตัวเหนอะหนะ จึงแนะนำให้คำนึงถึงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศด้วย
การมีห้องแต่งตัวดี ๆ ไม่ใช่แค่ทำให้บ้านมีระเบียบขึ้น แต่ยังถือเป็นการเริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่สดใสอีกด้วย หวังว่า 8 ข้อนี้จะช่วยเป็นไกด์ไลน์สำหรับ Walk-in Closet ในฝันของใครหลาย ๆ คน
8 เช็กลิสต์ก่อนเนรมิต Walk-in Closet คือห้องแต่งตัว หรือถ้าแปลตรงตัวก็คือตู้เสื้อผ้าที่เดินเข้าไปได้ ถือเป็นพื้นที่ในฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะบรรดาแฟชันนิสต้า แต่ก่อนจะวาด Walk-in Closet ในฝันให้เป็นจริง อย่าลืมเช็คลิสต์ 8 ข้อต่อไปนี้ก่อน