รีวิว รีโนเวทบ้าน 2 ชั้น ให้เป็นบ้านใหม่สไตล์โมเดิร์น
สิ่งสำคัญของการรีโนเวทบ้าน คือ การเข้ามาดูพื้นที่จริง บางครั้งเรายังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไปในทิศทางไหน แต่หากได้เข้ามาใช้เวลาในพื้นที่แล้ว ไอเดียต่างๆ จะมาเอง
บ้านหลังนี้ถูกน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ความเสียหายเกิดขึ้นทั่วทั้งบริเวณบ้าน เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาอยู่อาศัยอีกครั้ง ไอเดียเรื่องการกลับเข้ามาทำอะไรสักอย่างจึงเกิดขึ้น โดยเจ้าของบ้านได้ปรึกษาสถาปนิก คุณแชมป์ สณทรรศ ศรีสังข์ จาก TA-CHA DESIGN ว่าควรจะสร้างใหม่หรือรีโนเวทบ้านดี โดยมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่น้อยเพราะต้องการเข้าอยู่เร็วที่สุด สถาปนิกจึงแนะนำว่าการรีโนเวทบ้านคือทางออก
เมื่อสถาปนิกเข้าไปดูสภาพบ้านจริง ก็พบว่าโครงสร้างบ้านนั้นยังมีความแข็งแรงอยู่ จึงตัดสินใจออกแบบปรับปรุงบ้านโดยการคงโครงสร้างหลักของบ้านซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กไว้เกือบทั้งหมด ทำการทลายกำแพงทึบตัน ระเบิดพื้นที่ภายใน เปลี่ยนประตูหน้าต่าง หลังคา สร้างพื้นที่รอบบ้านที่เอื้อต่อการใช้งานที่ดูกว้างขวางขึ้น เพราะบ้านหลังนี้อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ การจัดห้องภายในแบบบ้านสมัยก่อนนั้นไม่เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน
อีกทั้งการจัดพื้นที่ภายในของบ้านเดิมนั้น มีการจัดวางพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ทุกคนต้องเดินผ่านบริเวณนั่งดูทีวี การยกสเต็ปที่มากเกินไปทำให้บ้านแคบ การซอยห้องที่เกิดมุมอับมากมาย การใช้พื้นที่แบบดังกล่าวได้ถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด เช่น ห้องนั่งเล่นเดิมมีพื้นที่ที่ไม่ใหญ่มาก และมีสเต็ปมาก หน้าต่างและประตูก็ไม่ใหญ่นัก สถาปนิกจึงมีไอเดียที่จะระเบิดพื้นที่นี้ และสร้างผนังที่สวนของบ้าน เพื่อให้เกิดการปิดล้อมที่ขยายออกไป เสมือนห้องนั่งเล่นนี้มีขอบเขตกว้างใหญ่กว่าไปถึงสวนข้างบ้านเลยทีเดียว
“ส่วนบานประตูหน้าต่างมีการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะมีผลต่อรูปแบบของบ้านที่จะดูโปร่งขึ้น และการระบายอากาศที่ดีขึ้นด้วย ส่วนบานประตูหน้าต่างเก่านั้น เรามีการเตรียมการไว้ว่าจะรียูสใช้ในตำแหน่งอื่นๆ แล้ว แต่ด้วยความที่ช่างนั้นไม่ระมัดระวังในการรื้อ จึงทำให้บานเหล่านั้นเสียหายจนไม่สามารถนำกลับมาใช้อีกได้ เราและเจ้าของบ้านยังเสียดายจนทุกวันนี้” สถาปนิกเน้นย้ำว่าหากจะเก็บสิ่งใดไว้ ต้องกำชับช่างว่าต้องรื้ออย่างระมัดระวังมากที่สุด หากเข้ามาดูช่วงที่จะรื้อถอนได้ก็ควรเข้ามาด้วย
มาถึงในส่วนของการจัดสวนรอบบ้าน สถาปนิกมีการศึกษาวิธีการจัดวางที่จะไม่ทำให้เกิดความอึดอัด แต่ก็เกิดความเป็นส่วนตัวเหมือนอยู่ในห้องนั่งเล่น อีกทั้งจังหวะการจัดวางที่จะไม่ทำให้รู้สึกเป็นทางการ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย นอกจากนี้ยังมีการย้ายต้นไม้ใหญ่มาไว้ในตำแหน่งที่เน้นต้นไม้ให้เด่นชัดขึ้น โดยที่การรีโนเวทบ้านครั้งนี้ไม่มีการตัดต้นไม้ใหญ่แม้แต่ต้นเดียว แต่ใช้วิธีการย้ายหรือแทรกตัวบ้านเข้าไปใกล้ให้มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากหลังคาระแนงบนระเบียงชั้นสองของบ้าน ที่ใช้การยกโครงหลังคาที่ประกอบเสร็จจากด้านล่างขึ้นไปวางคร่อมบางส่วนของต้นไม้เดิม ส่วนต้นไม้นั้น สถาปนิกก็เป็นคนออกแบบเช่นกัน โดยพิจารณาเรื่องการใช้ต้นไม้ที่ส่งเสริมให้บ้านน่าอยู่ เช่นต้นไม้ที่ให้ร่มเงา ต้นไม้ที่สร้างการปิดล้อมที่ดีด้วยทรงพุ่มและลักษณะของใบ
ระบบไฟฟ้านั้นเดินใหม่ทั้งหมดโดยการเดินลอย แต่ไม่ให้มีมากเกินไปเพราะเจ้าของบ้านนั้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งชอบการตกแต่งที่ดูเรียบร้อยมากกว่าการโชว์ฝ้าแบบดิบๆ ส่วนระบบประปานั้น เน้นการจัดพื้นที่ภายในห้องน้ำใหม่และการเปลี่ยนวัสดุมากกว่าการเปลี่ยนตำแหน่งสุขภัณฑ์ เพราะการเจาะพื้นห้องน้ำใหม่นั้นเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการรั่วซึมได้ในภายหลัง โดยห้องน้ำสมัยก่อนนั้นจะไม่ได้แบ่งพื้นที่แห้งและเปียกในห้องน้ำมากนัก เมื่อปรับปรุงห้องน้ำใหม่ ก็ทำการแบ่งให้ชัดเจนด้วยระดับพื้นและการกั้นฉาก ก็จะง่ายต่อการใช้งาน ปลอดภัย และยังลดโอกาสในการรั่วซึมด้วย
บ้านหลังนี้ใช้งบประมาณในการรีโนเวทบ้านประมาณ 5 ล้านบาท ในความเป็นจริง งบประมาณเท่านี้อาจจะสามารถสร้างบ้านใหม่ได้หนึ่งหลังสบายๆ แต่ด้วยปัจจัยเรื่องระยะเวลาที่จำกัดของเจ้าของบ้าน ซึ่งการปรับปรุงบ้านนั้นจะสามารถดำเนินการให้เสร็จได้เร็วกว่าการสร้างบ้านใหม่ เจ้าของบ้านจึงเลือกวิธีการนี้
สถาปนิกยังฝากทิ้งท้ายว่า การปรับปรุงบ้านไม่ได้หมายความว่าจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างบ้านใหม่เสมอไป บางครั้งที่ใช้งบมากกว่า ก็มีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน หากสภาพบ้านเดิมนั้นทรุดโทรมมาก หรือแม้แต่การได้ผู้รับเหมาที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญการปรับปรุงบ้าน ก็อาจเป็นเหตุให้ราคาการก่อสร้างนั้นสูงขึ้นไปอีก นอกเสียจากว่าเจ้าของบ้านมีความผูกพันกับบ้านมาก อยากคงบางอย่างของบ้านเก่าไว้ นั่นก็เป็นเหตุผลที่ยอมรับได้ และสถาปนิกก็เข้าใจเป็นอย่างยิ่ง ลองคิดทบทวนก่อนสร้างบ้านหรือรีโนเวทบ้านสักนิด แล้วจะได้บ้านที่เรารักและอยู่สบายไปนานแสนาน
“ผมหลีกเลี่ยงการสร้างส่วนต่อเติมเพื่อเพิ่มพื้นที่ เพราะจะเป็นการเพิ่มงบประมาณในการรีโนเวทบ้านมากเกินไป แต่จะจัดการพื้นที่ภายในและภายนอกใหม่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งการต่อเติมยังเสี่ยงต่อการทรุดและสร้างความเสียหายแก่บ้านเดิมด้วย” คุณแชมป์พูดถึงการต่อเติมโครงสร้างใหม่ที่ต้องการหลีกเลี่ยง
อีกส่วนหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือการสร้างชายคายื่นออกไป 4 เมตรจากตัวอาคาร พร้อมสร้างระเบียงขนาดใหญ่ เพื่อให้พื้นที่ภายในได้กินขอบเขตออกไปมากขึ้น โครงสร้างชายคายื่นนั้นไม่ได้มีเสารับ เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกที่สุด โดยใช้การดึงโครงสร้างกลับเข้าไปในตัวอาคาร 2 เมตร เพื่อถ่วงน้ำหนักให้ชายคานนี้สามารถอยู่ได้อย่างแข็งแรง
“จริงๆ จุดเด่นของบ้านหลังนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวสถาปัตยกรรม แต่การตกแต่งภายในนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บ้านน่าอยู่ โปร่งสบายมากขึ้น ทั้งการใช้วัสดุที่ดูวับวาวเพื่อความโปร่งโล่งดูไม่อึดอัด การดึงฝ้าขึ้นในบางจุดเพื่อให้ห้องสว่างและโล่ง การหดและยื่นผนังที่จัดวางใหม่เกือบทั้งหมด เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นที่หน้างานจริง เพราะสิ่งสำคัญของงานรีโนเวทบ้าน คือ การเข้ามาดูพื้นที่จริง บางครั้งเรายังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไปในทิศทางไหน แต่หากได้เข้ามาใช้เวลาในพื้นที่แล้ว ไอเดียต่างๆ จะมาเอง การก่อสร้างหรือการรื้อถอนนั้น อาจเดินควบคู่ไปกับการออกแบบเขียนแบบ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า พอเมื่อรื้อฝ้าออกมาแล้ว เราจะพบสภาพของตัวบ้านอย่างไร มองอีกแง่หนึ่งมันคือความสนุก คือความท้าทายของงานรีโนเวทบ้านลักษณะนี้”
ขอบคุณที่มาของบทความ
www.scgbuildingmaterials.com