สร้างบ้านใหม่ ใช้คอนกรีตผสมเองจะแข็งแรงแค่ไหน?
สร้างบ้านใหม่ ใช้คอนกรีตผสมเองจะแข็งแรงแค่ไหน? ไขข้อข้องใจ หากสร้างบ้านใหม่โดยใช้คอนกรีตผสมเองจะแข็งแรงแค่ไหน? รวมถึงมีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยช่วยทำให้คอนกรีตแข็งแรงได้เต็มประสิทธิภาพ? (ดูแลรักษา)
ในปัจจุบันงานก่อสร้างบ้านและอาคารที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กนั้น นิยมใช้คอนกรีตผสมเสร็จเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในอีกหลายๆ เรื่องที่ทำให้เจ้าของบ้านจำเป็นต้องใช้คอนกรีตที่ผสมเองหน้างาน เช่น ถนนหน้างานแคบทำให้รถปูนเข้าถึงลำบาก หรืองานที่ใช้คอนกรีตปริมาณไม่มาก เช่น งานเทพื้นลานรอบบ้าน งานหล่อแท่นปูนรับเสาเหล็กโรงรถเพียงไม่กี่จุด ซึ่งใช้คอนกรีตไม่ถึง 2 คิว (ลบ.ม.) เป็นปริมาณขั้นต่ำที่รถปูนขนาดเล็กจะมาส่ง เป็นต้น เมื่อต้องมีส่วนที่ต้องผสมคอนกรีตเอง ก็มักจะมีคำถามตามมาเสมอว่า “การผสมคอนกรีตหน้างานนั้นจะแข็งแรงเพียงพอหรือไม่? เรามาไขข้อข้องใจไปพร้อมๆ กัน
เราจะพาย้อนกลับไปในสมัยที่ยังไม่มีบริการคอนกรีตผสมเสร็จ งานก่อสร้างต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ล้วนใช้คอนกรีตที่ผสมเองหน้างานทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกความแข็งแรงของคอนกรีตก็คือ ค่ากำลังอัดของคอนกรีต (Strength) มีหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร (Ksc)
สำหรับคอนกรีตที่ผสมเอง ทั้งในรูปแบบของการใช้โม่ปูนหรือกวนผสมเองด้วยช่าง จะมีค่ากำลังอัดอยู่ที่ประมาณ 150 – 180 Ksc ซึ่งมีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับงานโครงสร้างบ้านหรืออาคารที่มีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น ดังนั้น งานหล่อคอนกรีตในพื้นที่เล็กๆ รับน้ำหนักไม่มากจึงยิ่งไม่มีปัญหา หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ในสมัยโรมันซึ่งเป็นยุคที่มีการใช้คอนกรีตในงานก่อสร้างครั้งแรก ยังสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ได้มากมาย เทียบกับเทคโนโลยีในการผลิตปูนซีเมนต์และคอนกรีตที่พัฒนามาหลายพันปี การสร้างบ้านโดยอาศัยแรงงานคนในปัจจุบันนี้ก็ไม่น่าจะด้อยคุณภาพกว่าในอดีต
1. คุณภาพของวัตถุดิบ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ หิน ทราย น้ำ
ปูนซีเมนต์ เป็นส่วนผสมที่ส่งผลต่อคอนกรีตอย่างมาก เพราะมีหลายประเภท ซึ่งแตกต่างกันในเรื่ององค์ประกอบทางเคมี ความละเอียดของผงปูนที่ยิ่งละเอียดมากก็ยิ่งรับกำลังอัดได้สูง
หิน ทราย ควรมีขนาดใหญ่ ผิวหยาบ และมีเหลี่ยมมุม ที่สำคัญต้องสะอาดปราศจากสิ่งเจือปนอื่นๆ
น้ำ ต้องใสสะอาด และหากมีส่วนผสมของเกลือคลอไรด์ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มกำลังให้คอนกรีตด้วย
**สำหรับปูนซีเมนต์ หิน ทราย ควรกองเก็บในที่แห้ง ปราศจากความชื้น และควรระวังไม่ให้ถุงบรรจุฉีกขาด
2. ส่วนผสมและการผสม ควรชั่งตวงตามอัตราส่วนผสมที่ถูกต้องและคงที่ และทำการผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างทั่วถึง
3. การควบคุมคุณภาพคอนกรีต ทั้งในเรื่องกำลังอัดให้เป็นไปตามที่กำหนด อุณหภูมิที่เหมาะสม ค่าการยุบตัว ระยะเวลาที่ใช้ในการก่อตัว ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ทดสอบ อาจรวมถึงการทดสอบในห้องแล็บ
4. กระบวนการหล่อเทคอนกรีต ในขณะที่มีการลำเลียงและเทลงในแบบ ล้วนมีความเสี่ยงเรื่องการเกิดฟองอากาศในเนื้อคอนกรีต ซึ่งมีผลต่อกำลังอัดของคอนกรีตที่ไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น จึงควรเทคอนกรีตอย่างระมัดระวังโดยให้คอนกรีตค่อยๆ ไหลลงในแบบ ไม่เทจากที่สูง และหมั่นจี้ปูนรวมทั้งการเคาะที่แบบเพื่อไล่ฟองอากาศอย่างถูกวิธี เพื่อให้เนื้อคอนกรีตแน่นตัวและรับแรงได้เต็มที่
5. การบ่มคอนกรีต ไปจนถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการแข็งตัวตามกำลังของคอนกรีต เนื่องจากน้ำเป็นส่วนผสมที่ทำให้คอนกรีตแข็งตัวและรับแรงได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ในกระบวนการผสม หล่อ เทคอนกรีตทำให้คอนกรีตสูญเสียความชื้นจนเกิดการขาดน้ำ และส่งผลให้ผิวหน้าคอนกรีตแตกร้าวได้ ดังนั้น จึงต้องทำการบ่มคอนกรีตให้มีความชื้นอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะถึงเวลาที่คอนกรีตแข็งตัวตามกำลัง ซึ่งทำได้หลายวิธี โดยวิธีง่ายๆ ที่นิยมกันคือ การฉีดพรมด้วยน้ำเป็นประจำ และการหุ้มด้วยแผ่นพลาสติก
คอนกรีตผสมเสร็จ จะมีการควบคุมกระบวนการผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน จึงหมดกังวลไปได้หลายปัจจัย โดยเฉพาะใน 3 ปัจจัยแรก ส่วนอีก 2 ปัจจัยหลังเป็นเรื่องของการควบคุมงานก่อสร้างหน้างาน
คอนกรีตที่ผสมเองหน้างาน ต้องอาศัยความใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนของผู้ควบคุมงานและช่างก่อสร้าง ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ การกองเก็บ การตรวจสอบคุณภาพคอนกรีต ไปจนถึงกระบวนการหล่อเท และบ่มคอนกรีต เพื่อให้ได้บ้านที่แข็งแรง และเจ้าของบ้านอยู่อาศัยอย่างมั่นใจในความปลอดภัย
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com