5 ข้อชวนคิด บ้านเก่าเกิน 20 ปี จะทุบสร้างใหม่หรือรีโนเวต ??
5 ข้อชวนคิด บ้านเก่าเกิน 20 ปี จะทุบสร้างใหม่หรือรีโนเวต ประเด็นต่าง ๆ ที่อยากชวนเจ้าของบ้านพิจารณา หากมีบ้านเก่าอายุเกินกว่า 20 ปี ว่าควรปรับปรุงครั้งใหญ่หรือทุบสร้างใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุด
หลายคนที่มีบ้านเก่าหรือบ้านที่อยู่อาศัยมานาน และถึงเวลาที่ต้องขยับขยายหรือเริ่มมีกำลังมากพอในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทุบสร้างใหม่หรือรีโนเวตดี อาจเพราะบ้านยังดูดีหรือด้วยเสียดายบรรยากาศความทรงจำดีดีในบ้านเก่า จะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ยังตัดสินใจได้ยาก มีสิ่งที่ควรพิจารณา 5 ข้อ ดังนี้
1: ประเภทบ้าน
พิจารณาก่อนว่าบ้านเราเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์/ทาวน์โฮม หรือตึกแถว เพราะมีผลต่อเพื่อนบ้านข้างเคียงและกฏหมายควบคุมอาคารด้วย
๐ บ้านเดี่ยว สามารถเลือกทำได้ทั้งสองอย่างไม่ว่าจะทุบสร้างใหม่หรือรีโนเวต ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ
๐ บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์/ทาวน์โฮม หรือตึกแถว แนะนำการรีโนเวต หรืออาจจะทุบผนัง พื้น บางส่วนเพื่อปรับสเปซหรือหน้าตาใหม่ได้ เพราะหากทุบรื้อบ้านเดิมออกทั้งหมดเพื่อปลูกสร้างใหม่ จะมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญไม่แนะนำให้ทุบสร้างใหม่เพราะจะกระทบกับโครงสร้างของเพื่อนบ้านที่ติดเราด้วย
2: โครงสร้างบ้านเดิม
สำรวจสภาพบ้านเดิมก่อน ทั้งสภาพภายนอก ภายใน สามารถตรวจสอบเองได้ เช่น รอยน้ำรั่ว พื้นผนังฝ้าผุพัง ส่วนโครงสร้างของบ้านอาจมีการรื้อพื้นผนังฝ้าบางช่วงบางตอนเพื่อตรวจสอบเสาคาน ซึ่งแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรโครงสร้างเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย หากโครงสร้างแข็งแรงดีไม่มีปัญหาแตกร้าวหรือทรุดตัว อาจจะแค่ปรับปรุงบ้านให้สวยใหม่ได้ แต่ถ้าโครงสร้างบ้านโดยเฉพาะเสา คานเกิดปัญหา หรือถ้าบ้านมีเอียงทรุด อาจพิจารณาทุบสร้างใหม่ได้เลย
3: พื้นที่ใช้สอยเดิม
พิจารณาพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านว่าเพียงพอต่อความต้องการใช้งานและตอบโจทย์ตรงใจกับผู้อยู่อาศัยแล้ว หรือจำเป็นต้องขยับขยายเพราะสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น หากมีขนาดที่ดินจำกัดจนไม่สามารถต่อเติมอาคารหรือเพิ่มพื้นที่ใช้สอยรอบบ้านได้ ซึ่งการจะเพิ่มพื้นที่แนวตั้ง เช่น บ้านชั้นเดียวเพิ่มเป็นบ้าน 2-3 ชั้น อาจมีผลต่อโครงสร้างเดิมที่ไม่ได้วางแผนการรับน้ำหนักไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้นการทุบสร้างใหม่จึงเป็นคำตอบที่ดีกว่า
4: งบประมาณ
ส่วนใหญ่การรีโนเวตจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการสร้างใหม่ เพราะไม่มีค่าโครงสร้างที่ต้องทำขึ้นใหม่ แต่การรีโนเวตจะควบคุมงบประมาณได้ยากกว่า เพราะอาจพบปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ เช่น ภาพรวมภายนอกบ้านยังดูดี แต่พอรื้อตรวจโครงสร้างแล้วเริ่มหมดสภาพต้องทำโครงสร้างใหม่ ดังนั้น การเตรียมงบประมาณอาจเป็นเกณฑ์ตั้งตั้นของใครหลายคนว่าจะเลือกทุบสร้างใหม่หรือรีโนเวตดี
5: คุณค่าของบ้าน
ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการตีราคาหรือมูลค่าที่สูงจนน่าเสียดายหากต้องทุบสร้างใหม่ แต่หมายถึงการมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น เป็นบ้านที่อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นตระกูล หรือการมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมควรคู่กับการเก็บอนุรักษ์ไว้ แบบนี้ก็อาจเลือกรีโนเวตมากกว่า
เชื่อว่าหากพิจารณาทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว เจ้าของบ้านน่าจะมีคำตอบในใจว่าจะทุบสร้างใหม่หรือรีโนเวต ทั้งนี้ นอกจากประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณแล้ว ความผูกพันหรือคุณค่าทางจิตใจอาจมีผลกระทบต่อบางคนในบ้านได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกันในครอบครัว เพื่อให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของทุกคนให้อยู่กันได้อย่างมีความสุข
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com